“จีไอที” จัดประกวดออกแบบเครื่องประดับนานาชาติครั้งที่12 หนุน “ไข่มุก” ไทยมาทำเป็นเครื่องประดับ

ดวงกมล เจียมบุตร(แฟ้มภาพ)
จีไอทีจัดประกวดออกแบบเครื่องประดับนานาชาติ ครั้งที่ 12 เดินหน้าสนับสนุน “ไข่มุก” ไทยมาทำเป็นเครื่องประดับ หวังเปิดตัวออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ คาดช่วยกระตุ้นการใช้ไข่มุกเป็นวัตถุดิบ สร้างรายได้ให้กับผู้เลี้ยง และพัฒนาเครื่องประดับส่งออกใหม่ๆ ของไทยสู่ตลาดโลกได้เพิ่มขึ้น เผยการประกวดชิงเงินรางวัลรวมกว่า 3 แสนบาท และเปิดทางนำผลงานโชว์ในงานบางกอกเจมส์และผลิตขายจริง

 

นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยว่า ในปี 2561 จีไอทีจะจัดโครงการประกวดออกแบบเครื่องประดับระดับนานาชาติ ครั้งที่ 12 ภายใต้หัวข้อ The Pearl of Wisdom – Illumination from under the surface โดยกำหนดให้มีการนำไข่มุกหรือส่วนประกอบของหอยมุกมาประยุกต์ใช้และออกแบบเป็นเครื่องประดับ เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้ “ไข่มุก” ของไทยเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากยิ่งขึ้น

“ปัจจุบัน ไข่มุก มีความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ จำนวนมาก และยังเป็นหนึ่งในอัญมณีส่งออกที่สำคัญของไทย โดยสามารถสร้างมูลค่ามากว่า 500 ล้านบาทต่อปี หากมีการพัฒนาเครื่องประดับจากไข่มุกได้เพิ่มขึ้น ไม่เพียงแต่จะช่วยให้ผู้เลี้ยงหอยมุกมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ยังเป็นการเพิ่มคอลเล็กชั่นใหม่ๆ ให้กับเครื่องประดับของไทยออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ”นางดวงกมลกล่าว

สำหรับการประกวดครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างการจัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ (บางกอก เจมส์) ครั้งที่ 61 วันที่ 23 ก.พ.2561 และจากนั้นจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจทั้งนักเรียน นิสิต นักศึกษา นักออกแบบ และประชาชนทั่วไป ส่งผลงานเข้าประกวด โดยต้องส่งผลงานจำนวนไม่ต่ำกว่า 3 ชิ้น ใน 1 ผลงาน ประกอบด้วย สร้อยคอ และเครื่องประดับอื่นๆ อย่างน้อย 2 ชิ้น เช่น ต่างหู แหวน กำไล เข็มกลัด เป็นต้น ซึ่งผลงานทุกชิ้นจะต้องนำไข่มุกหรือเปลือกหอยมุกมาออกแบบเป็นเครื่องประดับ

ทั้งนี้ จะมีการประกาศผลการตัดสินผู้ชนะการประกวดในงานบางกอก เจมส์ ครั้งที่ 62 ในเดือนก.ย.2561 และจะมีการจัดแสดงแฟชั่นโชว์จากเครื่องประดับที่ผลิตจากผลงานที่ชนะด้วย โดยผลงานที่ชนะจะได้รับเงินรางวัลรวมกว่า 3 แสนบาท และยังได้รับโอกาสในการนำไปผลิตเป็นสินค้าเพื่อจำหน่ายจริงด้วย
ไข่มุก แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ไข่มุกธรรมชาติ และไข่มุกเลี้ยง ทั้งสองประเภทยังแบ่งย่อยออกเป็นไข่มุกน้ำเค็มและไข่มุกน้ำจืด โดยไข่มุกเกิดจากมีสิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไปในตัวหอย ทำให้หอยเกิดการระคายเคืองและหลั่งสารออกมาเคลือบสิ่งแปลกปลอมนั้น สิ่งที่เคลือบนี้ต่อมาแข็งตัวทำให้เกิดความวาวและเหลือบสีรุ้งสวยงามในไข่มุก โดยไม่ได้มีเพียงสีขาว แต่ยังมีสีอื่นๆ เช่น ชมพู เงิน ครีม เหลือง เขียว น้ำเงิน ม่วง เทา และดำ รวมทั้งยังมีรูปร่างตั้งแต่รูปกลมถึงรูปร่างบิดเบี้ยวไปมาตามธรรมชาติ

โดยแหล่งมุกธรรมชาติที่สำคัญมาจากอ่าวเปอร์เซีย อินเดีย และศรีลังกา ขณะที่มุกเลี้ยงที่สำคัญมาจากประเทศจีน ออสเตรเลีย เฟรนช์โปลินีเซีย ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย ส่วนไทยมีแหล่งเลี้ยงมุกในจังหวัดภูเก็ต พังงา ระนอง สุราษฎร์ธานี และกาญจนบุรี ปัจจุบัน ไข่มุก มีความต้องการในอุตสาหกรรมต่างๆ จำนวนมาก จึงเป็นหนึ่งในอัญมณีส่งออกที่สำคัญของประเทศไทย โดยสามารถสร้างมูลค่ามากว่า 500 ล้านบาทต่อปี