กกร.-สภาผู้ส่งออกฯโอด 1 เดือนแรกบาทแข็งทะลุ 4% -ขึ้นค่าแรง กระทบส่งออกวูบ 5,000 ล้านดอลล์

กกร.-สภาผู้ส่งออกฯ โอด 1 เดือนแรกบาทแข็งทะลุ 4% – ขึ้นค่าแรง กระทบส่งออกวูบ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งปี’60 ขยายตัวแค่ 3.5% ร้องรัฐดูแลบาท-เลื่อนขึ้นค่าแรงอีก 1 ปี เปิดทางเอกชนปรับตัว

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. เปิดเผยผลการประชุม กกร. ว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะขยายตัว 3.8-4.5% ส่วนการส่งออกจะขยายตัว 3.5-6.0% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในกรอบ 1.1-1.6% ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นกังวลมากที่สุดคืออัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นรวดเร็วในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นไปถึง 4% เป็นการแข็งค่าอย่างรวดเร็วจนอาจกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของผู้ส่งออกได้

“ขณะนี้ทางภาครัฐเองก็ได้เข้ามาดูแลค่าบาทอย่างใกล้ชิด ภาคเอกชนได้ให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้ค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลงมาบ้างในช่วง 2 วันที่ผ่านมา แต่ภาพรวมยังคงแข็งค่าอยู่ โดยปัจจัยที่ทำให้บาทแข็งจากนโยบายการปรับอัตราดอกเบี้ย และมาตรการลดภาษีกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ประกอบกับเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในภาวะที่ดี ทำให้มีการนำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น ซึ่งไม่ได้มีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกต้องปรับตัวด้วยการทำประกันความเสี่ยง รวมถึงขยายการลงทุนในต่างประเทศ และเพิ่มมูลค่าของสินค้า นอกจากนี้ ยังต้องติดตามมาตรการทางการค้าของสหรัฐซึ่งอาจมีเพิ่มเติมก่อนการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพฤศจิกายนนี้”

นายปรีดี กล่าวถึง ภาวะตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงแรงในวันนี้ (6 กุมภาพันธ์ 2561) ว่า เป็นไปตามภาวะตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปรับลดลงมา หลังจากที่ก่อนหน้านี้ขึ้นไปอย่างร้อนแรง และธนาคารกลางสหรัฐจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้นักลงทุนดึงเงินกลับไปลงทุนสินทรัพย์อื่นแทน

ส่วนประเด็นการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประมาณ 2% กกร.มองว่าอาจมีผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ 0.3% เท่านั้น

ด้านนางสาวกัญญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาถึง 11% เมื่อเทียบกับปีก่อน ประกอบกับการปรับขึ้นค่าแรงที่จะมีผลในวันที่ 1 เมษายนนี้ จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรม คือ อาหาร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และไก่สดแช่เย็น-แช่แข็งแปรรูป มากที่สุด เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมใช้วัตถุดิบในประเทศเกือบ 100% และพึ่งพาแรงงานจำนวนมาก

“ผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทและการปรับขึ้นค่าแรง อาจส่งผลให้สูญเสียรายได้จากการส่งออก ประมาณ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 1.5% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ซึ่งอาจทำให้การส่งออกเติบโตลดลงเหลือ 3.5% ไม่ถึงเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัว 5.5% จากปี 2560 หรือมีมูลค่า 230,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนจีดีพีคาดว่าจะขยายตัว 4%” นางสาวกัญญภัคกล่าว

Advertisment

ทั้งนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ เห็นว่ารัฐบาลควรชะลอการปรับขึ้นค่าแรงออกไปอีก 1 ปี เพื่อให้เวลาผู้ประกอบการได้ปรับตัว ซึ่งเป็นโอกาสดีที่จะปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรใหม่ นอกจากนี้ ยังควรขยายเวลามาตรการลดหย่อนภาษี SMEs 1.15 เท่า ออกไปเป็น 2 ปี จากเดิมที่จะมีผลถึงแค่สิ้นปีนี้ และควรขยายเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลที่นำเข้าเครื่องจักรและนำระบบดิจิทัลมาปรับปรุงธุรกิจ เป็นเวลา 5 ปี ตลอดจนลดภาษีนำเข้าเครื่องจักร รวมถึงควรลดเงินสมทบที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายให้ประกันสังคมจาก 5% เหลือ 1-3% และที่สำคัญคือการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะต้องสอดคล้องกับทักษะแรงงาน โดยมีใบประกาศรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานรองรับด้วย