กนอ. จับมือ 6 พันธมิตร ติดสปีดนิคมฯ สมาร์ทปาร์ค ด้วยเงินลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รุกแผนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม Smart Park พร้อมจับมือ 6 พันธมิตร ประกอบด้วยสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) บริษัท พีทีที โพลีเมอร์ โลจิสติกส์ จำกัด บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) บริษัท โกลบอล ยูทิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด บริษัท บางกอก อินดัสเทรียล แก๊ส จำกัด ร่วมพัฒนาโครงการระบบขนส่งภายในพื้นที่โครงการ ฯลฯ โดยคาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการได้ในปี 63
 
ดร.สมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2561 กนอ. ได้มีนโยบายจัดตั้งโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก : นิคมอุตสาหกรรม Smart Park ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยจุดเด่นของนิคมอุตสาหกรรม Smart Park เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่รองรับการลงทุนในธุรกิจอุตสาหกรรมด้านดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีอันทันสมัยโดยมุ่งเน้นบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจเพื่อให้เกิดการร่วมผลิตและสร้างสรรค์นวัตกรรม ระบบฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และระบบดิจิทัลในเชิงพาณิชย์ให้กระจายไปถึงทุกภาคส่วน นอกจากนี้ การเกิดขึ้นของนิคมฯ Smart Park ยังถือเป็นนิคมอุตสาหกรรมแนวใหม่ที่จะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ นักลงทุน และบุคคลทั่วไป โดยเริ่มตั้งแต่การออกแบบและวางผังพื้นที่ การติดตั้งระบบความปลอดภัย การให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ดีที่สุดและศูนย์รวม Data Center ที่ใหญ่ที่สุดสำหรับนักลงทุน รวมถึงระบบคมนาคม การสื่อสาร สิ่งอำนวยความสะดวกภายใต้แนวคิดนิคมฯ 4.0 สำหรับ EEC (Industrial Estate 4.0 for EEC) ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่านิคมฯแห่งนี้จะเป็นมิติใหม่ของการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมที่ดีที่สุดทั้งในประเทศและแถบภูมิภาคอาเซียน
 
ด้าน ดร.พสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับหลักเกณฑ์การกำหนดกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเข้ามาตั้งภายในพื้นที่โครงการได้นั้น จะพิจารณาจาก 3 หลักเกณฑ์ คือ 1) นโยบายภาครัฐ ซึ่งจะต้องเป็นนโยบายที่มีการส่งเสริมจากหน่วยงานต่างๆของรัฐบาล 2)มูลค่าการลงทุน โดยเป็นมูลค่าการลงทุนของธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆที่มีอยู่ในพื้นที่ และ 3) การนำเข้าส่งออก ต้องเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับกิจการต่างๆที่มีการนำเข้าส่งออกบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก ทั้งนี้ ยังจะพิจารณาจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าจะเกิดการลงทุนในพื้นที่ EEC ในระยะ 5 ปีแรก (‭2560 – 2564‬ ) ตามที่รัฐบาลคาดหวัง ซึ่งจะเป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีฐานการผลิตเดิมอยู่แล้ว หรือมีศักยภาพในการพัฒนาสูง เนื่องจากผู้ประกอบการและนักลงทุนสามารถพัฒนาต่อยอดการผลิตได้ง่าย รวมทั้งแรงงานมีความรู้ความเชี่ยวชาญพื้นฐานในการผลิตเป็นทุนเดิม โดยจะใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปพัฒนาและปรับโครงสร้างให้เป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่า ซึ่งประกอบด้วย 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร โดยต่อยอดจากธุรกิจการแพทย์เดิมที่มีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ผสมผสานกับการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์จากพื้นฐานด้านการเกษตรและเคมีชีวภาพ
 
อุตสาหกรรมวิจัยและพัฒนา มุ่งเน้นการวิจัยด้านเวชภัณฑ์และเครื่องมือทางการแพทย์ขั้นสูง การต่อยอดสิ่งประดิษฐ์ที่สิทธิบัตรหมดอายุคุ้มครอง เพื่อให้สามารถจำหน่ายไปยังต่างประเทศและให้คนไทยได้เข้าถึงสิ่งประดิษฐ์ที่ทันสมัยในราคาถูก
 
อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ การบิน และอวกาศ ได้แก่ การขนส่งและบริการเพื่อการขนส่ง การบริการและซ่อมชิ้นส่วนบำรุงอากาศยาน อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน อากาศยานไร้คนขับ (Drone) ระบบนำทางและซอฟต์แวร์ต่างๆ เป็นต้น
 
อุตสาหกรรมอุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์และจักรกล ประเทศไทยมีอุตสาหกรรมที่มีฐานการผลิตขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มว่าจะมีการใช้วิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติตามสายการผลิตมากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงหุ่นยนต์ด้านการแพทย์ ซึ่งคาดว่าจะเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศในอนาคต
 
อุตสาหกรรมดิจัลเทคโนโลยีอินเทอร์เนต เชื่อมต่อปัญญาประดิษฐ์ ได้แก่ ซอฟท์แวร์ที่ฝังตัวอยู่ในระบบหรือในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บางประเภท ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ระบบความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ ธุรกิจด้าน IOT สื่อและอนิเมชั่นสร้างสรรค์ เป็นต้น
ขณะที่ นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กนอ. ได้แบ่งพื้นที่นิคมฯ Smart Park ให้มีลักษณะเป็นกลุ่มในรูปแบบคลัสเตอร์ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและต่อเนื่องในการเชื่อมโยงธุรกิจและอุตสาหกรรม และยังได้ออกแบบพื้นที่ให้สอดคล้องกับความเป็นเมืองอัจฉริยะ ที่ระบบต่างๆจะต้องมีการทำงานอย่างชาญฉลาด ประกอบด้วย 1.ที่ตั้งอัจฉริยะ 2.ธุรกิจอัจฉริยะและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต 3.อาคารประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 4.ระบบความปลอดภัยขั้นสูง 5.สังคมและชุมชนที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ทุกรูปแบบ 6.การคมนาคมที่ใช้พลังงานสะอาด 7.การเชื่อมโยงทุกสิ่งสู่ระบบอินเทอร์เน็ต (Smart I.o.T) 8.ระบบสาธารณูปโภคและการบริหารจัดการแบบอัจฉริยะ และ 9.เมืองสีเขียวที่ผ่านการควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม น้ำเสีย กากขยะอุตสาหกรรม คุณภาพอากาศ ซึ่งระบบสาธารณูปโภคและระบบสื่อสารภายในโครงการจะผ่านระบบอุโมงค์ลอดใต้เส้นทางหลัก (ใต้ดิน) ทั้งหมด
 
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด กนอ. ได้ประสานความร่วมมือในการดำเนินงานพัฒนาโครงการนิคมฯ Smart Park ร่วมกับหน่วยงานรัฐวิสากิจ และภาคเอกชนประกอบไปด้วย บริษัท พีทีที โพลีเมอร์ โลจิสติกส์ จำกัด ซึ่งจะดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการด้านโลจิสติกส์เพื่อจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า(Rayong International Distribution Center – RIDC) โดยใช้พื้นที่ในโครงการดังกล่าวเพื่อรองรับการขยายธุรกิจรวมถึงส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยไม่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของบริษัท บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ดำเนินการพัฒนาโครงการบริหารจัดการความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าจากเทคโนโลยีพลังงานสะอาด การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ นวัตกรรมพลังงานอัจฉริยะผ่านระบบ Single Platform ด้วยเทคโนโลยี Block Chain ที่ทันสมัย ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการผลิตและจ่ายความเย็นแบบรวมศูนย์ให้สอดคล้องกับพื้นที่และสภาพแวดล้อมของโครงการ บริษัท โกลบอล ยูทิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด ดำเนินการศึกษาสนับสนุนการบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภค และร่วมกันออกแบบระบบสาธารณูปโภคให้เหมาะสมต่ออุตสาหกรรมของโครงการฯ บริษัท บางกอก อินดัสเทรียล แก๊ส จำกัด ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง ทางด้านก๊าซอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนการดำเนินการทางด้านอุตสาหกรรมในยุค 4.0 โดยมุ่งเน้นการพัฒนาด้านประสิทธิภาพการผลิต การอนุรักษ์พลังงาน และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
 
บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมพัฒนาโครงการระบบขนส่งภายในพื้นที่โครงการ สถานีบริการ สถานีซ่อมบำรุง การให้บริการการเข้าออกระบบขนส่ง ส่วนบริการต่อเนื่องในระบบขนส่งภายใน พื้นที่พาณิชยกรรมต่อเนื่องในระบบขนส่งภายในศูนย์การประชุมที่ทันสมัย และจะใช้โครงการเป็นต้นแบบในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไปในอนาคต และสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จะให้การสนับสนุนและการส่งเสริมนักลงทุนเข้ามาร่วมลงทุนประกอบกิจการในพื้นที่ของโครงการฯ