FTA ไทย “ออสซี่-กีวี่” พ่นพิษ อีก 7 ปี ต้องเลิกโควต้ารับซื้อน้ำนมดิบ

วันนี้การเปิดเสรี “สินค้านมและผลิตภัณฑ์นม” ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ออสเตรเลีย และไทย-นิวซีแลนด์ ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว แม้ช่วงนี้อัตราภาษีโควตานำเข้าจะค่อย ๆ ทยอยลดลงทุกปีจนถึงปี 2567 เหลือร้อยละ 1 และเหลือร้อยละ 0 ในปี 2568

แต่ดูเหมือนวันนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของไทย และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนมยังไม่พร้อมปรับตัวรับมือกับการเปิดเสรีอย่างเป็นทางการ และยังเผชิญกับปัญหาต้นทุนการผลิต และภาษี

ดังนั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมกับกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทยลงพื้นที่พบปะกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโคนมภาคกลาง ที่ จ.สระบุรี เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และทิศทางการปรับตัว เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมโคนมของไทย

นับเป็นมิติใหม่ในการทำงานร่วมกันระหว่าง 2 กระทรวง

“เลิกซื้อน้ำนมดิบ” ปมใหญ่

นางอุมาพร ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักเอเชีย แอฟริกาและตะวันออกกลาง กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า เมื่อเปิดเสรีในปี 2568 มาตรการจัดสรรโควตานมผงขาดมันเนยที่ผู้รับโควตานำเข้าต้องช่วยรับซื้อน้ำนมดิบจากผู้เลี้ยงโคนมในประเทศ ต้องยกเลิกไป ถือเป็นปัญหาท้าทายอุตสาหกรรมโคนมไทย คือแผนรองรับปริมาณน้ำนมดิบที่เคยได้รับการช่วยเหลือ จะไม่สามารถกำหนดได้ นั่นคือปัญหาหลักที่เกษตรกรค่อนข้างกังวล

ระหว่างนี้อัตราภาษีโควตาจะลดลงทุกปีจนถึงปี 2567 เหลือร้อยละ 1 และปี 2568 อัตราภาษีนำเข้าจะเป็นร้อยละ 0 ทันที ขณะที่อัตราภาษีเก็บจริงในปัจจุบันร้อยละ 5 โดยสินค้านมผงขาดมันเนยเป็นรายการที่น่าห่วง เพราะปี 2560 นิวซีแลนด์นำเข้านมผง 6.4 หมื่นตัน/ปี มากที่สุด รวมถึงนมผงไขมันเกิน 1.5% หางนม (เวย์) ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของนม เนย และไขมันเนย (AMF) กลุ่มสินค้าเนยแข็ง เช่น เนยแข็งสด เนยแข็งที่เป็นฝอยหรือผง นมครีม เครื่องดื่มประเภทนมปรุงแต่ง และนมผงขาดมันเนย

ดัน “Smile milk” ส่งออก

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ รักษาราชการอธิบดีกรม กล่าวว่า กรมต้องช่วยผู้ประกอบการหาตลาดในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อรองรับผลกระทบ โดยสานต่อโครงการจับมือผู้ประกอบการโคนมไทยบุกตลาดต่างประเทศโดยใช้ประโยชน์จาก FTA ซึ่งจะคัดเลือกกลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์โคนมที่พร้อม 5-10 ราย มาต่อยอดผลิตภัณฑ์ สร้างแบรนด์ส่งออกในงาน Top Thai Brands โดยเจาะกลุ่มเป้าหมายตลาดเมียนมา กัมพูชา และจีน รวมไปถึงการสานต่อให้เกษตรกรทั่วประเทศรวมแบรนด์นมพาณิชย์ “Smile Milk” แปรรูปจากโคนมสดแท้ 100% ซึ่งมีโครงการนำร่องไปเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา นำมาปรับโฉมจัดตั้งธุรกิจ “แฟรนไชส์” จะสอดคล้องมาตรการเพิ่มการใช้น้ำนมดิบในประเทศช่วยแก้ปัญหาน้ำนมดิบล้น และจะหามาตรการดูแลราคาต้นทุนอาหารสัตว์ให้เกษตรกรด้วย ซึ่งหลายกลุ่มสหกรณ์เห็นด้วยกับการรวมแบรนด์

วอนรัฐแก้น้ำนมดิบล้น

นายชัยยา เพียรเสมา รองผู้จัดการ สหกรณ์โคนมไทยมิลค์ กล่าวว่า สหกรณ์ มีกำลังการผลิตน้ำนมดิบ 100 ตัน/วัน ส่วนหนึ่งแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นมสดแท้ 100% ภายใต้แบรนด์ “ไทยมิลค์” ได้ทดลองตลาดที่ จ.สระบุรี ผู้บริโภคไม่ให้การยอมรับ ตลาดไปไม่รอด เพราะแยกไม่ออกว่าอะไรคือนมสดแท้ 100% จึงเห็นด้วยที่จะรวมแบรนด์ และอยากให้ภาครัฐเป็นพี่เลี้ยงในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และดูแลเรื่องต้นทุน รวมถึงสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ข้อดีของน้ำนมสดให้คุณประโยชน์แตกต่างกับนมผงให้มากขึ้นก่อนรับมือผลกระทบ FTA

นอกจากนี้ การที่กระทรวงเกษตรฯ มีมาตรการยกระดับมาตรฐานน้ำนมดิบ ฟาร์มเลี้ยง และต้องทำบัญชี ยอมรับว่าปรับตัวลำบาก เนื่องจากต้องใช้เงินทุนเพิ่ม และใช้ระยะเวลาในการผสมพันธุ์ใหม่ ต้นทุนสูงมากเมื่อเทียบกับคู่แข่งนมผง เกษตรกรหลายรายเลิกประกอบอาชีพไปแล้ว เนื่องจากสู้ไม่ไหว จึงขอให้รัฐทำมาตรการสร้างแรงจูงใจเกษตรกร เช่น หากเกษตรกรทำมาตรฐานได้ดี อาจปรับราคาเพิ่มให้ 10 สต./ลิตร

สอดคล้องกับตัวแทนชุมนุมสหกรณ์แห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า หลังเปิดเสรีแม้รัฐมีแผนแปรรูปนมดิบส่งออก แต่ไม่แน่ใจว่าเกษตรกรจะทำตามมาตรฐานต่าง ๆ ได้หรือไม่ นอกจากนี้ ประเด็นที่น่าห่วงคือภาพรวมกำลังการผลิตน้ำนมดิบของเกษตรกรทั่วประเทศประมาณ 3,300 ตัน/วัน ในจำนวนนี้ประมาณ 1,600 ตัน/วัน ปัจจุบันผู้รับโควตานำเข้าจะช่วยรับซื้อน้ำนมดิบจากผู้เลี้ยงโคนมในประเทศ แต่หลังเปิดเสรีต้องยกเลิกไป ดังนั้น รัฐบาลต้องมองถึงเศรษฐกิจฐานราก และที่ผ่านมาเกษตรกรโคนมสร้างรายได้ให้ประเทศไม่ต่ำกว่าปีละหมื่นล้านบาท

จี้รัฐปฏิรูปอุตฯนม

นายสมพงษ์ ภูพานเพชร ประธานกรรมการสหกรณ์โคนมในเขตปฏิรูปที่ดินซับสนุ่น อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี เผยว่า ปัญหาที่ต้องคำนึงมากที่สุดกว่าการหามาตรการรองรับค้าเสรีที่สุดคือปัญหาอุตสาหกรรมโคนมในประเทศอ่อนแอลง กว่าจะถึงอีก 7 ปีข้างหน้าจะยังมีเกษตรกรที่ต้องต่อสู้กับต้นทุนและภาษีเหลือกี่ราย ซึ่งระบบภาษีในประเทศจัดเก็บโคนม 80% คิดเป็น 1 แสนบาท/ปี “จึงอยากฝากรัฐบาลหน่วยงานสรรพากรให้ยกเลิกภาษีและดูส่วนนี้

ดังนั้นก่อนจะไปถึงการเปิดเสรี 0% แต่ในประเทศไทยที่เป็นสหกรณ์ด้วยซ้ำยังเก็บกันเองในอัตราสูงเกษตรกรจะอยู่ต่อไปอย่างไร ควรปฏิรูปวงการโคนมเพราะเกษตรกรอยู่ไม่ได้แล้ว”

นายนพดล ตันวิเชียร รองผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวว่า การเปิดเสรีนมจากออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ยอมรับว่ามีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ใช้น้ำนมดิบค่อนข้างมาก ทั้งปัญหานมล้น การจัดสรรโควตา และเกษตรกรต้องปรับตัวเรื่องมาตรฐานน้ำนมดิบ ซึ่งเป็นจุดแข็ง แต่ความน่ากังวล คือการลดลงของเกษตรกร บางรายตัดสินใจเลิกเลี้ยงเพราะการปรับมาตรฐานน้ำนมดิบ มีต้นทุนเพิ่ม และมีอาชีพอื่นที่ทดแทนได้

แต่ในระยะยาวต้องผลักดันการส่งออกนมพร้อมดื่มให้มาก ซึ่งเทรนด์การดื่มนมสดมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยปีที่ผ่านมา อ.ส.ค.มียอดส่งออกกว่า 9 พันล้านบาท ขณะที่ตลาดในประเทศผู้บริโภคยังนิยมดื่มนมสดมากกว่านมปรุงแต่งหรือส่วนผสมอื่น ดังนั้น นมไทย-เดนมาร์ค สามารถใช้จุดแข็งนี้ต่อยอดไปได้ และเมื่อผู้เลี้ยงลดลงในอนาคตอาจจะทำให้นมดิบขาดตลาดตรงนี้วิกฤตจะเป็นโอกาส

อย่างไรก็ดี นายสัตวแพทย์ประภาส ปัญโญชีพ ปศุสัตว์ เขต 1 กรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ปัจจุบันสินค้าหลายรายการเริ่มลดภาษี กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์มียุทธศาสตร์โคนม ปี 2560-2569 กำหนดยกระดับมาตรฐานอย่างเป็นทางการในอีก 4 ปีข้างหน้า จะดูแลและสร้างความเข้มแข็งลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มมูลค่า พร้อมทั้งพัฒนาสายพันธุ์เพิ่ม และการส่งเสริมบริโภคน้ำนมของไทยจากเฉลี่ย 17-19 ล้านลิตร/คน/ปี ให้เป็น 20-29 ล้านลิตร/คน/ปี และสนับสนุนโรงงานแปรรูปเพื่อส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน