โรงไฟฟ้าขยะ 300 MW ไม่คืบ “GPSC” ลุ้นมท.ไฟเขียว

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานทดแทนเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศจัดหาไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน ในรูปแบบ feed in tariff นั้น ส่วนใหญ่รูปแบบโครงการเป็นการร่วมลงทุนกันระหว่างภาครัฐที่เป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และอื่น ๆ กับเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาโรงไฟฟ้านั้น ขณะนี้เอกชนมีข้อกังวลใน 2 ประเด็น คือ 1) ความล่าช้าในการพิจารณาอนุมัติโครงการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน 2 ส่วน คือ ในรายที่เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชนจะต้องดำเนินการขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบในการจัดเก็บและกำจัดขยะตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบของบ้านเมือง พ.ศ. 2560 ที่ใช้เวลาพิจารณาโครงการค่อนข้างนาน

ล่าสุดมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้รายงานสถานะของโครงการกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตไฟฟ้าว่า ยังคงอยู่ในระหว่างขั้นตอนการขออนุญาตรวม 53 โครงการ รวมกำลังผลิตประมาณ 300 เมกะวัตต์ รวมถึงมีหลายพื้นที่ทั่วประเทศมีความพร้อมที่จะพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะได้อีก 324 กลุ่ม แบ่งเป็น กลุ่มที่มีขยะมูลฝอยเกินกว่า 500 ตัน/วันขึ้นไป รวม 10 กลุ่ม กลุ่มที่มีขยะมูลฝอยตั้งแต่ 300-500 ตัน/วัน จำนวน 11 กลุ่ม และกลุ่มที่มีขยะมูลฝอยน้อยกว่า300 ตัน รวม 303 กลุ่ม

และ 2) ราคารับซื้อไฟฟ้าที่รับซื้อในโครงการดังกล่าวอยู่ที่ 3.66 บาท/หน่วยนั้น เป็นระดับราคารับซื้อที่แพงกว่าที่ควรจะเป็นถึง 1 บาท/หน่วย เนื่องจากในช่วงที่มีการเปิดรับฟังความเห็นของเอกชน และได้ให้ความเห็นว่า หากใช้ขยะอุตสาหกรรมหรือขยะอันตรายจำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนที่เป็นการคัดแยกเพิ่มให้กับผู้ดำเนินโครงการเพื่อจูงใจให้เข้ามาลงทุน แต่ กกพ.สรุปที่ใช้ขยะจากชุมชนทั่วไป แต่กลับไม่ปรับลดราคารับซื้อไฟฟ้าลงมา ซึ่งในกรณีที่ต้องการเปิดรับซื้อเพิ่ม ภาครัฐควรปรับปรุงราคารับซื้อใหม่ เพื่อให้ราคาเหมาะสมกับต้นทุน และไม่กระทบต่อค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องเป็นผู้รับภาระ

ด้านนายวีระพล จิระประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ตามที่ กกพ.ได้ประกาศจัดหาไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน ในรูปแบบ feed in tariff โดยไม่ต้องประมูลแข่งขันด้านราคา (compettitive bidding) และมีผู้สนใจที่เป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล ฯลฯ เข้ามายื่นขอโครงการตั้งแต่ช่วงปลายปี 2560 ที่ผ่านมา รวม 8 โครงการ กำลังผลิตติดตั้ง 77 เมกะวัตต์ หลังจากนั้นต้องให้เวลาประมาณ 5-6 เดือน ในการขออนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในจำนวนทั้ง 8 โครงการ มีโรงไฟฟ้าขยะของบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC กำลังผลิตประมาณ 10 เมกะวัตต์ ที่ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จมาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่สามารถเดินเครื่องผลิตได้ เนื่องจากตามขั้นตอนจะต้องขออนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยด้วย


ขณะที่นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าขยะของบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ยื่นขออนุญาตไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว แต่ยังติดในประเด็นการแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ขยะมาผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าเร็ว ๆ นี้จะผ่านการพิจารณา