“จักรา ยอดมณี” เปิดแผนดูแลราคาสินค้าโค้งท้ายปี

จักรา ยอดมณี
จักรา ยอดมณี
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

สถานการณ์ความผันผวนราคาสินค้าภายในประเทศในช่วงโค้งสุดท้ายของปี ยังเป็นประเด็นร้อนที่หลายฝ่ายจับตามอง ด้วยผลกระทบจากปัจจัยภายนอกประเทศที่ไม่สามารถควบคุมได้ดันต้นทุนวัตถุดิบปรับขึ้น จนผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุน รายใดแบกรับไม่ไหวจำเป็นต้องขอขึ้นราคา

นับเป็นภารกิจที่กรมการค้าภายในต้องติดตามดูแลราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความสมดุลให้ทั้งผู้ผลิต ประชาชน และเกษตรกร “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ร้อยตรี จักรา ยอดมณี” รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ถึงแนวทางการดูแลราคาสินค้าเพื่อสร้างความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายว่า

ไม่ขึ้นราคาสินค้า

ก่อนหน้านี้ได้มีการปรับขึ้นราคาสินค้าให้กับผู้ประกอบการไปแล้ว 3 รายการ เช่น ปุ๋ย น้ำนมดิบ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จากการที่ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการ ผู้ผลิต ไม่สามารถแบกรับต้นทุนสินค้าต่อไปได้ จึงได้ทำหนังสือขอเข้ามาที่กรมการค้าภายใน ในการขอขึ้นราคาสินค้า

“การขอปรับราคา กรมต้องตรวจสอบพบว่าผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจริง จึงได้อนุมัติให้ขึ้นราคาสินค้า แต่ก็มีเงื่อนไขว่าหากต้นทุนมีการปรับลด ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องลดราคาสินค้าลง บางสินค้าอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จะต้องมีการรายงานต้นทุนวัตถุดิบเข้ามาที่กรม เพื่อติดตามสถานการณ์วัตถุดิบ”

ส่วนสถานการณ์ราคาสินค้าปัจจุบัน กรมยังไม่ได้มีการอนุมัติให้สินค้าอื่น ๆ ขึ้นราคาสินค้าแต่อย่างใด แม้จะมีผู้ประกอบการขอยื่นขึ้นราคาสินค้าเข้ามาให้กรมพิจารณาอยู่บ้างก็ตาม พร้อมกันนี้กรมยังติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชน แต่ผู้ประกอบการก็ต้องอยู่ได้ พร้อมกันนี้ กรมก็ยังขอความร่วมมือผู้ประกอบการในการตรึงราคาสินค้าอยู่เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพกับประชาชน

เดินหน้า “พาณิชย์ลดราคา”

ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินโครงการพาณิชย์ ลดราคาช่วยเหลือประชาชน ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการตามนโยบาย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในการช่วยเหลือประชาชนให้ได้เข้าถึงสินค้าราคาพิเศษ และช่วยเหลือในการลดค่าครองชีพ

ADVERTISMENT

โครงการดังกล่าวนี้ได้เดินหน้ามาเป็นระยะเวลา 2 ปี เริ่มโครงการ LOT 1 เมื่อเดือนเมษายน 2563 จนมาถึง LOT 21 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 นี้ และคาดว่าจะเดินหน้า LOT 22 ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับผู้ประกอบการ ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีก ร้านค้าส่งที่จะร่วมโครงการในการลดราคาสินค้า เพื่อช่วยเหลือประชาชนในการลดค่าครองชีพ และเป็นการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในช่วงปลายปี

“การเดินหน้าพาณิชย์ลดราคาช่วยเหลือประชาชน ใน 21 ลอตที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการทั้งรูปแบบออฟไลน์ และรูปแบบออนไลน์ เข้าร่วมโครงการ สินค้าที่นำมาลดราคาสินค้ามีมากกว่า 11 ล้านรายการ ลดสูงสุดกว่า 87% ซึ่งถือว่าเป็นโครงการที่ประสบผลสำเร็จที่ได้ช่วยเหลือประชาชน และลอตที่ 22 ก็เชื่อว่ายังมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการและนำสินค้ามาลดราคาจำนวนมากแน่นอน”

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ดี การเดินหน้าโครงการดังกล่าวนี้ กรมการค้าภายในไม่ได้ดำเนินโครงการทุกช่วงเวลา แต่จะดูระยะเวลาที่เหมาะสม อาทิ สินค้ามีราคาแพง ของขาดตลาด ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเรามองเห็นว่า การจะทำโครงการจำเป็นจะต้องไม่กระทบตลาดปกติ

หรือเข้าไปบิดเบือนกลไกตลาดเกินไป เพราะจะกระทบตลาดปกติได้ ดังนั้นการดำเนินโครงการที่ผ่านมาจึงดูความเหมาะสมของสถานการณ์และช่วงเวลา รวมไปถึงการดำเนินโครงการในปี 2566 ด้วย

10 เดือนร้องวอร์รูมสินค้าลดลง

เมื่อต้นปี 2565 กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้ง คณะทำงานกำกับติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าแก้ไขปัญหาและดำเนินคดีกับผู้ฝ่าฝืนและกระทำความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (วอร์รูมในการติดตามดูแลราคาสินค้า) ซึ่งมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน

และประกอบด้วยหน่วยงานภายใต้กระทรวงพาณิชย์ เป็นกรรมการ ซึ่งคณะทำงานดังกล่าวจะมีการลงพื้นที่ติดตามสินค้าในตลาดสด ร้านค้า ห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศ เช่น กรุงเทพฯและปริมณฑลจะลงพื้นที่ตรวจสอบวันละ10 จุด และให้มีการรายงานผลเข้ามาที่คณะทำงาน

ทั้งนี้ เมื่อผลรายงานราคาสินค้าเข้ามามีสถานการณ์ผิดปกติ คณะทำงานก็จะทำหน้าที่ประชุมเพื่อติดตามสาเหตุ ที่มาที่ไป ว่าราคาสินค้าขึ้นผิดปกติเพราะอะไร หรือสินค้าขาดตลาดเพราะอะไร หากพบก็จะดำเนินการแนวทางแก้ไขเพื่อช่วยเหลือประชาชนต่อไป ซึ่งการดำเนินการก็จะอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ

โดยการดำเนินการที่ผ่านมาส่งผลให้ปัญหาราคาสินค้าลดลงเป็นอย่างมาก ในช่วง 10 เดือนแรก (มกราคม-ตุลาคม 2565) มีการร้องเรียนเข้ามา 2,793 เรื่อง ลดลง 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีการร้องเรียนเข้ามา 3,305 เรื่อง

โดยส่วนใหญ่ 70% เป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับราคาสินค้า กลุ่มสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม เช่น จำหน่ายไม่ตรงราคา ไม่แสดงราคาสินค้า และ 30% เกี่ยวกับเครื่องชั่งไม่ได้มาตรฐาน”

เปิด 5 ช่องร้องเรียน

ปัจจุบันกรมเปิดช่องทางให้ประชาชนเข้ามาร้องเรียนเรื่องราคาสินค้าได้หลายช่องทาง เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน

ช่องทางที่ 1.สายด่วน 1569 2.แอปพลิเคชั่นไลน์ Mr.DIT 3.เว็บไซต์ www.dit.go.th กรมการค้าภายใน โทรศัพท์ : 0-2507-5530 สายด่วน 1569 โทรสาร : 0-2547-5361 หรือ อีเมล์ : [email protected]: 0-2507-5530 4.สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ และ 5.กรมการค้าภายใน สนามบินน้ำ โดยช่องทางทั้งหมดนี้ กรมจะมีเจ้าหน้าที่รอรับเรื่องร้องเรียนของประชาชน

“หากประชาชนพบเจอการกระทำผิดเกี่ยวกับราคาสินค้า เช่น ไม่ปิดป้ายแสดงสินค้า ฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าที่ไม่เป็นธรรม สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งหมด ชื่อร้าน สถานที่ พฤติกรรม เวลา ซึ่งพยายามเก็บข้อมูลให้มากที่สุด เพื่อความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ได้ติดตาม และรวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุด เมื่อมีการลงพื้นที่ตรวจสอบและพบว่ากระทบผิดจริงก็จะได้ดำเนินการตามกฎหมายทันที”

ตรวจเข้มสินค้าส่งท้ายปี

ในช่วงท้ายปี กรมจะมีการจัดเจ้าหน้าที่ในการลงพื้นที่ตรวจสอบราคาสินค้าในช่วงท้ายปี 2565 โดยเฉพาะในสถานีขนส่งสำคัญ ๆ เช่น บางซื่อ หัวลำโพง หมอชิต เอกมัย สายใต้ใหม่ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชน และผู้ประกอบการ

โดยป้องกันไม่ให้มีการฉวยโอกาสในการขึ้นราคาสินค้า การเอารัดเอาเปรียบประชาชนในช่วงเทศกาล ในช่วงที่ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางกลับบ้าน

“ทุกปีกรมจะตรวจสอบการจำหน่ายสินค้ารวมไปถึงกระเช้าปีใหม่ด้วย โดยผู้ประกอบการ ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า จำเป็นจะต้องแสดงราคาสินค้าให้ชัดเจน ทั้งขนาด รายการสินค้า ราคา ปริมาณ เป็นต้น ซึ่งจะต้องดำเนินการตามกฎหมายที่กำหนด เพราะหากมีการตรวจสอบพบว่าไม่ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดก็ถือว่ากระทำผิด”

นอกจากตรวจสอบสินค้าในช่วงเทศกาลแล้ว ที่ผ่านมากรมก็ดำเนินการจัดส่งเจ้าหน้าที่ในการลงพื้นที่ตรวจสอบราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงเครื่องชั่ง เพื่อป้องกันการฉวยโอกาส และสร้างความเป็นธรรม ซึ่งหากพบว่ากระทำผิดก็จะดำเนินการทางกฎหมายทันที