“บิ๊กฉัตร” เปิดตัว สทนช. พร้อมติดอาวุธ มั่นใจเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาน้ำ

​“รองนายกฯ ฉัตรชัย” เปิดตัว สทนช.อย่างเป็นทางการ พร้อมติดอาวุธให้พิจารณาข้อมูล แผนงาน โครงการ งบประมาณ ติดตามและประเมินผล พร้อมบูรณาการเชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำกว่า 30 หน่วยงาน เผยจะเป็นหน่วยงานด้านน้ำระดับประเทศ ที่มีความสำคัญและจะมีบทบาทมากในอนาคต มั่นใจจะสร้างความเป็นเอกภาพ ช่วยให้การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำเป็นระบบ ไม่ซ้ำซ้อน และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
7 ก.พ. 61 พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานให้โอวาทและมอบนโยบายแก่เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ณ ห้องธารทิพย์ 01 อาคารหม่อมหลวง ชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน กรุงเทพฯ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน โดยมีนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. พร้อมผู้บริหารให้การต้อนรับ

​พลเอก ฉัตรชัย กล่าวว่า สทนช .เป็นส่วนราชการ ที่ตั้งขึ้นตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 46/2560 โดยให้อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อต้องการให้การบริหารจัดการน้ำ ของประเทศทั้งระบบมีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียว ลดความซ้ำซ้อน ของหน่วยงานด้านน้ำที่มีอยู่กว่า 30 หน่วยงานในปัจจุบัน และทำหน้าที่ในการบูรณาการข้อมูล แผนงาน โครงการ งบประมาณ ตลอดจนการติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์ จากการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำก่อนเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ สทนช. ยังจะทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำของประเทศ ทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ คือ 1. ยุทธศาสตร์การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 2. ยุทธศาสตร์การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต (เกษตรและอุตสาหกรรม) 3. ยุทธศาสตร์การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4. ยุทธศาสตร์การจัดการคุณภาพน้ำ 5. ยุทธศาสตร์การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน 6. ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งมีการวางรากฐานมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังมอบหมายให้ สทนช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหา และบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็วต่อการพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 รวมทั้งแผนงานเร่งด่วนและแผนการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ Area Base ซึ่งขณะนี้มีแผนงานที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาแล้ว 216 โครงการ จำนวนเงิน 4,212 ล้านบาท โดยได้พิจารณาโครงการที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการได้ทันที และสามารถบรรเทาปัญหาน้ำได้ตรงตามเป้าหมายในยุทธศาสตร์น้ำซึ่งมีกรอบงบประมาณแผนงานบูรณาการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ปี 2562 จำนวน 128,783 ล้านบาท โดยขณะนี้ สทนช. ร่วมกับ สำนักงบประมาณเร่งจัดลำดับความสำคัญแผนงานโครงการและงบประมาณรายจ่ายแบบบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ด้านน้ำ ปี 2562

​รองนายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า สทนช. จะต้องเร่งดำเนินการบูรณาการข้อมูลสารสนเทศด้านน้ำ ที่ขณะนี้มีเจ้าภาพกระจายในหลายหน่วยงาน โดยต้องการให้สามารถดึงข้อมูลมาใช้งานได้ทันที เพื่อเป็นฐานข้อมูล และสารสนเทศประกอบการตัดสินใจ ทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤติ นอกจากนี้ สทนช. จะเพิ่มบทบาท เพื่อรองรับการเป็น Thailand 4.0 โดยการพัฒนาองค์ความรู้ เน้นการผสมผสานระหว่างศาสตร์พระราชา ภูมิปัญญาท้องถิ่น และองค์ความรู้สากล มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ รวมไปถึงการจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติระดับภาค ซึ่งจะทำให้สามารถเชื่อมโยงนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริงตรงตามเจตนารมณ์ที่ปรากฏในพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ อีกทั้งยังจะดำเนินการผลักดันโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ และน้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้ในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า สทนช.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งดำเนินโครงการสำคัญ ๆ ให้เกิดขึ้นภายในปี 2562-2565 โดยจะกำหนดพื้นที่ Area Base ใน 6 ภูมิภาค รวม 44 พื้นที่ และวางแผนงาน เพื่อแก้ไขปัญหา และผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ได้แก่ ประกอบด้วย
1. ภาคเหนือ พื้นที่ประสบปัญหาในภาคเหนือส่วนใหญ่ คือบริเวณแม่น้ำยม โครงการสำคัญปี 2561- 2562 คือ การพัฒนาอาคารบังคับน้ำในลำน้ำยมตอนล่าง เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง และการบรรเทาอุทกภัยเมืองสุโขทัย ส่วนในระยะกลาง-ยาว จะพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ในพื้นที่ตอนล่าง ทำระบบป้องกันเมืองสำคัญ เช่น เชียงใหม่ ลำปาง พะเยา แพร่ และการเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล เป็นต้น

2. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่ประสบปัญหาน้ำแล้งในพื้นที่ต้นน้ำ และน้ำท่วมบริเวณลำน้ำมูล-ชี และจุดบรรจบแม่น้ำสงคราม โครงการสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนในปี 2561 – 2562 ได้แก่ การพัฒนาแหล่งเก็บน้ำบริเวณต้นน้ำชี ทำระบบป้องกันน้ำท่วมในลำน้ำชี ควบคู่กับการผันน้ำเลี่ยงเมืองชัยภูมิ การทำประตูระบายน้ำ(ปตร.)เก็บกักน้ำในลำน้ำก่อนไหลงแม่น้ำโขง ได้แก่ ปตร.ศรีสองรัก ขณะเดียวกันต้องศึกษาหาแนวทางแก้ไขอุทกภัยบริเวณจุดบรรจบลำน้ำที่สำคัญ

ส่วนในระยะกลาง-ยาว จะดำเนินการตั้งแต่ต้นน้ำ ระบบผันน้ำเลี่ยงเมืองในพื้นที่เศรษฐกิจ ระบบผนังป้องกันน้ำล้นตลิ่ง การเติมลงใต้ดิน และการผันน้ำเพื่อเชื่อมโยงระหว่างลุ่มน้ำ

3. ภาคกลาง แผนงานสำคัญปี2561- 2562 ได้แก่ โครงการที่สอดคล้องกับแผนบรรเทาอุทกภัยเจ้าพระยา เช่น การปรับปรุงคันกั้นน้ำ ขุดร่องน้ำเจ้าพระยา-ท่าจีน ปตร.บางบาล และปรับปรุงโครงข่ายคลอง ระพีพัฒน์ ส่วนในระยะกลาง-ยาว จะดำเนินการแผนบรรเทาอุทกภัยเจ้าพระยาทั้ง 9 แผนงานให้เต็มรูปแบบ

4. ภาคตะวันออก เป็นภูมิภาคที่มีกลุ่มการใช้น้ำและการใช้ประโยชน์ที่ดินที่แตกต่างกัน มีทั้ง ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ภาคเกษตรใน จ.จันทบุรี และตราด รวมทั้งแหล่งต้นน้ำสำคัญใน เขต จ.นครนายก ปราจีนบุรี โดยในปี 2561 – 2562 เน้นการเพิ่มความจุอ่างฯเดิม ควบคู่กับการสำรวจบ่อบาดาล รองรับ EEC ขณะที่พื้นที่บริเวณแม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำปราจีนบุรี ต้องเร่งำระบบป้องกันน้ำท่วม ส่วนในระยะกลาง-ยาว จะพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำข้างเคียงจากพื้นที่ EEC โดยเฉพาะบริเวณชายขอบผืนป่าด้านบน ควบคู่กับการผันน้ำระหว่างอ่างเก็บน้ำ และการเติมน้ำใต้ดิน 5. ภาคใต้ และ6.ภาคใต้ชายแดน การพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำเพื่อตัดยอดน้ำทำได้ยาก อ่างฯส่วนใหญ่จึงเป็นขนาดเล็ก-กลาง อยู่บริเวณเทือกเขาตอนกลางของภาค เพื่อตัดยอดน้ำไม่ให้กระทบต่อชุมชน พื้นที่เศรษฐกิจ และแหล่งท่องเที่ยง ส่วนด้านล่างทั้งสองฝั่งจะมีการพัฒนาแหล่งน้ำ เช่น การสร้างอ่างฯวังหีบ อ่างฯคลองสังข์ ควบคู่กับระบบระบายน้ำ-ผันน้ำ ซึ่งต้องสร้างความเข้าใจและรับฟัง ความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่อย่างเข้มข้น สำหรับแผนใน ระยะกลาง-ยาว จะวางแผนเพื่อบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ราบตอนล่าง

เลขาธิการ สทนช. กล่าวด้วยว่า สำหรับผลการดำเนินงาน ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำของประเทศ ทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2557-2560 ปรากฏว่า ยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค สามารถ พัฒนาระบบประปาหมู่บ้าน 7,234 หมูบ้าน ประมาณ2 ล้านครัวเรือน ประปาโรงเรียน/ ชุมชน 1,964 แห่ง คิดเป็นปริมาณน้ำ 58 ล้าน ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต สามารถเพิ่มปริมาณน้ำได้ 2,358 ล้าน ลบ.ม. เป็นการ พัฒนาแหล่งน้ำในเขตชลประทาน 1,418 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 1.78 ล้านไร่ พัฒนาแหล่งน้ำนอกเขตชลประทาน 624 ล้าน ลบ.ม. ขุดสระน้ำในไร่นา 166 ล้าน ลบ.ม. และน้ำบาดาล เพื่อการเกษตร 150 ล้าน ลบ.ม.


​ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย สามารถ ขุดลอกลำน้ำสายหลักและสาขามีความยาว 291.62 กิโลเมตร(กม.) ปริมาณดิน 13.14 ล้าน ลบ.ม. ดำเนินมาตรการป้องกันน้ำท่วมชุมชนได้ 63 แห่งมีพื้นที่ 178,300 ไร่ ยุทธศาสตร์ที่ 4 การจัดการคุณภาพน้ำ สามารถพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน 53 แห่ง ยุทธศาสตร์ที่ 5 การอนุรักษ์ ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน สามารถฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมได้ 331,570 ไร่ และยุทธศาสตร์ที่ 6 การบริหารจัดการ ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) น้ำ อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. (วาระ 2) จัดตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำ ตามระเบียบ สำนักนายกรัฐมนตรี ปี 2550 และจัดตั้ง สทนช. ตามคำสั่ง คสช. ที่ 46/60 และ 2/61 เรียบร้อยแล้ว