ญี่ปุ่นยังครองอันดับ 1 ลงทุนไทย ชี้ 11 เดือน ต่างชาติเข้ามาสูง 74%

การลงทุน
Photo : Pixabay

กรมพัฒนาธุรกิจฯ ชี้ 11 เดือนปี 2565 ต่างชาติลงทุนในไทย 112,466 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 47,884 ล้านบาท หรือ 74% ญี่ปุ่นยังครองอันดับ 1 รองลงมา จีน สิงคโปร์ จ้างงานคนไทย 5,008 คน

วันที่ 16 ธันวาคม 2565 นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รายงานให้ทราบว่า ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ตลอด 11 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-พ.ย.) อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 530 ราย แบ่งเป็น ใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจำนวน 198 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจำนวน 332 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 112,466 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 5,008 คน

สินิตย์ เลิศไกร
สินิตย์ เลิศไกร

โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 137 ราย คิดเป็น 26% เงินลงทุน 39,000 ล้านบาท สิงคโปร์ 85 ราย คิดเป็น 16% เงินลงทุน 11,999 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา 70 ราย คิดเป็น 13% เงินลงทุน 3,343 ล้านบาท ฮ่องกง 38 ราย คิดเป็น 7% เงินลงทุน 8,451 ล้านบาท และจีน 25 ราย คิดเป็น 5% เงินลงทุน 22,677 ล้านบาท

เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 (ม.ค.-พ.ย.) พบว่าการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 30 ราย คิดเป็น 6% (ปี 2565 อนุญาต 530 ราย ปี 2564 อนุญาต 500 ราย) เม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 47,884 ล้านบาท คิดเป็น 74% (ปี 2565 ลงทุน 112,466 ล้านบาท ปี 2564 ลงทุน 64,582 ล้านบาท) และจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น 5 ราย คิดเป็น 0.1% (ปี 2565 จ้างงาน 5,008 คน ปี 2564 จ้างงาน 5,003 คน) โดยปี 2564 ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสูงสุด คือ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับปี 2565

เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2565 ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ อาทิ

บริการออกแบบ ก่อสร้าง ติดตั้ง และตรวจสอบระบบกักเก็บพลังงาน สำหรับโครงการโรงผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานสำหรับสนามบินอู่ตะเภา บริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย

บริการขุดลอก ถมทะเล และก่อสร้างม่านดักตะกอนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Electric Vehicle Charging Station) สำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า

บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษาเชิงเทคนิคแบบครบวงจรในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ การช่วยเหลือด้านการออกแบบ การพัฒนา และทดสอบระบบ เป็นต้น บริการศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศด้วยระบบที่ทันสมัย บริการพัฒนาและให้บริการซอฟต์แวร์ด้านวิเคราะห์และเชื่อมโยงเพื่อบริหารจัดการข้อมูล Big Data, Data Analytics

ขณะที่การลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2565 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 105 ราย คิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด มีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 48,316 ล้านบาท คิดเป็น 43% ของเงินลงทุนทั้งหมด ทั้งนี้ เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 42 ราย เงินลงทุน 24,520 ล้านบาท จีน 9 ราย เงินลงทุน 10,956 ล้านบาท และสิงคโปร์ 9 ราย เงินลงทุน 2,156 ล้านบาท ธุรกิจที่ลงทุน

อาทิ 1) บริการศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศด้วยระบบที่ทันสมัย 2) บริการพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นการออกแบบและพัฒนาระบบบริหารจัดการควบคุมการผลิตในโรงงาน และระบบบริหารจัดการสินค้าคงคลัง และ 3) บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชั่น การอัพเกรดซอฟต์แวร์ต่าง ๆ เป็นต้น

คาดว่าหนึ่งเดือนสุดท้ายของปี 2565 จะมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจโดยผ่อนคลายให้มีการเปิดประเทศ และเพิ่มการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเสริมให้เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

ทั้งนี้ เฉพาะเดือนพฤศจิกายน 2565 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจในประเทศไทย 50 ราย แบ่งเป็น ใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 17 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจำนวน 33 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 6,029 ล้านบาท จ้างงานคนไทยกว่า 373 คน ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา

รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับหลักการทดสอบและตรวจสอบการทำงานของตู้ควบคุมแรงดันไฟฟ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับการทำงานของระบบที่เกี่ยวข้องกับ Internet Protocol Television (IPTV) เป็นต้น

สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่ บริการติดตั้งและทดสอบ ซ่อมแซมบำรุงรักษา รวมทั้งให้คำปรึกษา แนะนำ และฝึกอบรมเกี่ยวกับสินค้าประเภทตู้ควบคุมแรงดันไฟฟ้า (Switchgear) และหม้อแปลงไฟฟ้า

บริการขยายระบบ ทดสอบ บำรุงรักษา และให้คำแนะนำสำหรับการดำเนินการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพเกี่ยวกับระบบการจัดการสิทธิดิจิทัล ระบบการนำเสนอเนื้อหาสารสนเทศฯ สำหรับการขยายแพลตฟอร์มระบบการให้บริการรายการโทรทัศน์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต บริการศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศด้วยระบบที่ทันสมัย


บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การปรับปรุงขั้นตอนการผลิตสินค้า การปรับปรุงและพัฒนาระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Robotics and Automation System) และการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง เป็นต้น บริการรับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์แผ่นซับน้ำนม ผลิตภัณฑ์จุกนมเทียม จุกนม ขวดนม ถุงเก็บน้ำนมมารดา ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและอุปกรณ์เครื่องใช้สำหรับมารดา เด็ก และทารก เป็นต้น