โหวตล้มพ.ร.บ.อ้อยฉบับสนช. ชาวไร่-รง.ขัดแย้งหนักปม”ผลพลอยได้”

ประชาพิจารณ์ - ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลหลายร้อยคนร่วมกันทำประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลฉบับ สนช.
ชาวไร่อ้อย-โรงงานน้ำตาลโหวตล้มร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับของ สนช. เคลียร์ปม “ผลพลอยได้” ไม่ลงตัว ร้องให้นำร่าง พ.ร.บ.ฉบับเดิมของกระทรวงอุตสาหกรรมมาปัดฝุ่น

 

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2561 ทางสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้เปิดสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เรื่องพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่ยกร่าง

โดยคณะกรรมการพิจารณาศึกษาปรับปรุงพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปรากฏว่า ที่ประชุมมีชาวไร่อ้อยและโรงงานมาเข้าร่วมหลายร้อยคน และแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง ดุเดือด พร้อมกับมีการโห่ร้อง และยกมือด้วยเสียงข้างมากไม่เห็นด้วย และขอให้ล้มร่าง พ.ร.บ.อ้อยฉบับดังกล่าว โดยที่ประชุมขอให้กลับไปใช้ร่างเดิมที่ทาง สอน. กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล เคยร่วมกันทำมา และได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์ไปแล้วประมาณปีกว่าที่ผ่านมา เพราะร่างใหม่มีเปลี่ยนแปลงหลายมาตรา

โดยตัวแทนจากสหพันธ์ และสมาคมชาวไร่อ้อยทั่วประเทศได้แสดงความคิดเห็นสอดคล้องกันว่า ไม่ขอรับร่างฉบับดังกล่าว จะสร้างปัญหาความขัดแย้งให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องผลพลอยได้ โดยต้องการให้มีการเติมผลิตภัณฑ์อื่นมาคำนวณในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ โดยไม่จำกัดว่าต้องมาจากอ้อย นอกจากนี้ มีประเด็นที่ชาวไร่อ้อยด้วยกันขัดแย้งกันเองในมาตรา 20 ในเรื่องของ “สถาบันชาวไร่อ้อย” ที่มีเงื่อนไขผ่อนปรนสำหรับสหกรณ์ รวมถึงการเพิ่มบทลงโทษที่รุนแรงขึ้นถึง 4 เท่า

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เปิดเผยว่า จะนำข้อคิดเห็นทั้งหมดไปดำเนินการใน 2 ทางเลือก ระหว่าง 1.เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณา และนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. หรือ 2.จะนำความคิดเห็นทั้งหมดไปปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.อ้อยฯ ให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ.นี้ เนื่องจากภายในเดือน มี.ค. 2561 สอน.เตรียมเดินทางไปองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อพบกับทางบราซิล ในการทำหนังสือแลกเปลี่ยนความตกลงระหว่างไทยกับบราซิล จากกรณีที่บราซิลยื่นเรื่องข้อห่วงกังวลต่อ WTO กล่าวหาไทยถึงการอุดหนุนน้ำตาล ส่งผลให้กลไกราคาไม่เป็นไปตามราคาตลาดโลก จึงผิดเงื่อนไขการค้า

โดยฝั่งไทยจะร่างหนังสือให้บราซิลชะลอการยื่นฟ้อง และตั้งคณะผู้พิจารณา (panel) ต่อ WTO เนื่องจากไทยได้ทำการปรับโครงสร้างอ้อยและน้ำตาลทราย ด้วยการประกาศลอยตัวราคาน้ำตาล อิงตามราคาตลาดโลก โดยใช้สูตรคำนวณ London No.5 +ไทยพรีเมี่ยม ไปเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2561 และคาดว่าทางบราซิลจะร่างหนังสือว่าด้วยความพอใจในการปรับโครงสร้างอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศไทย โดยยังขอดูในทางปฏิบัติของไทย ซึ่งอาจใช้เวลา 6 เดือน หรือ 1 ปีก่อน ซึ่งทางบราซิลเองคงยังไม่ยุติการถอนเรื่องที่ยื่นข้อห่วงกังวลต่อ WTO เมื่อแลกหนังสือกันเสร็จเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือน มี.ค.นี้ ทาง สอน.จะเสนอ ครม.รับทราบ แล้วเดินหน้าต่อในการแก้ พ.ร.บ.ให้แล้วเสร็จ

แหล่งข่าวจากโรงงานน้ำตาล เปิดเผยว่า ล่าสุดสอน.ได้ส่งหนังสือถึงโรงงานน้ำตาลน้ำให้จ่ายส่วนต่างเพื่อเก็บเงินเข้ากองทุนฯ ตามสูตรการคำนวณราคาน้ำตาลลอยตัว โดยกำหนดราคาสำรวจเฉลี่ยน้ำตาลทรายขาวหน้าโรงงานเดือนม.ค.ที่ 17.22 บาท ซึ่งทางโรงงานต่างเห็นว่า ไม่สะท้อนราคาขายหน้าโรงงานที่แท้จริง และจะนัดหารือเรื่องนี้กันอีกครั้งในวันที่ 12 ก.พ.นี้

รง.น้ำตาลร้องแก้ 4 มาตรา

ล่าสุด 2 สมาคมโรงงานน้ำตาลได้ยื่นหนังสือต่อเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายโดยระบุข้อคิดเห็นเหมือนกัน ฉบับแรกลงนามโดยนายกฤษฎา มนเฑียรวิเชียรฉาย นายกสมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย และฉบับที่ 2 ลงนามโดย นางรัตนาภรณ์ จึงสงวนสิทธิ์ นายกสมาคมโรงงานน้ำตาลไทย ได้เสนอข้อคิดเห็น พอสรุปได้คือ

1.การปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ควร 1.1 ยึดกรอบแนวทางของคณะทำงานพิจารณาปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบที่ กอน.แต่งตั้ง ซึ่งชาวไร่และโรงงานเห็นพ้องกันแล้ว โดยคำนึงถึงความเป็นธรรม ความเป็นไปได้ในการกำหนดวิธีปฏิบัติ การบริหารจัดการระบบให้เกิดความสงบเรียบร้อย ไม่นำไปสู่ข้อขัดแย้ง และการล่มสลายของอุตสาหกรรมนี้

1.2 ต้องให้สอดคล้องกับกติกา WTO และ 1.3 ควรลด/เลิกข้อกำหนด/กฎระเบียบที่ไม่จำเป็น ไม่ก่อให้เกิดปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติ

2. ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ที่ยกร่างโดย สนช. 2.1 มาตรา 3 วรรค 3 คำว่า “ผลพลอยได้” ที่ให้รวม “กากอ้อย” เพราะกากอ้อยรวมอยู่ในน้ำหนักอ้อยที่โรงงานซื้อแล้วและโรงงานลงทุนสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นพันล้านบาท หากนำกากอ้อยมารวมเป็นผลพลอยได้ ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม ทั้งสองฝ่ายต้องมีการเจรจาใหม่

2.2ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 21 (4) กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร โดยให้กำหนดอัตราการหีบอ้อยปกติต่อวันของแต่ละโรงงาน

2.3 มาตรา 30 ที่กำหนดการใช้จ่ายเงินกองทุน เห็นว่า (1) การทำหน้าที่ของกองทุนในการรักษาเสถียรภาพของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายนั้น ควรให้ความสำคัญในการดูแลชาวไร่อ้อย โรงงาน และผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม โดยให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตทั้งด้านอ้อยและโรงงาน เพื่อลดต้นทุน เพิ่มรายได้ของระบบ และพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมให้แข่งขันในตลาดโลกได้

(2) การให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ผ่านมา ใช้วิธีเพิ่มค่าอ้อยทุกตันอ้อยให้ทั้งรายใหญ่ รายเล็ก ส่งผลให้กองทุนต้องมีภาระหนี้สินมาก จึงเห็นควรกำหนดเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรเช่นเดียวกับการช่วยเหลือของภาครัฐแก่พืชเกษตรอื่น ๆ เช่น การกำหนดปริมาณพื้นที่ที่ต้องให้ความช่วยเหลือ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อลดภาระของระบบ

2.4 ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 63 (3) หมวด 10 ที่ให้อำนาจหน้าที่ “ยึดหรืออายัดสมุดบัญชีเอกสาร หรือหลักฐานอันสมควรเชื่อว่า มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้” เนื่องจากขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งอายัดดังกล่าวต้องมีคำสั่งศาลก่อน พนักงานเจ้าหน้าที่จึงสามารถดำเนินการได้

2.5 ไม่เห็นด้วยกับหมวด 11 ที่กำหนดบทลงโทษทั้งฝ่ายชาวไร่อ้อยและโรงงาน เพิ่มสูงกว่า พ.ร.บ.ฉบับเดิม มากขึ้นหลายเท่า จึงเห็นว่า ตามกฎหมายเดิมกำหนดบทลงโทษมีความเหมาะสมดีอยู่แล้ว จึงไม่ควรปรับปรุงแก้ไขใหม่ โดยในอดีตที่ผ่านมา ทั้งชาวไร่อ้อยและโรงงานก็มิได้กระทำความผิดอย่างรุนแรงจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายแต่อย่างใด