ไทยผนึก 3 ชาติสู้ศึกเซฟการ์ด U.S.โขกภาษีเครื่องซักผ้า-โซลาร์เซลล์

จากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้อนุมัติให้ใช้มาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2561 ที่ผ่านมา โดยกำหนดปริมาณการนำเข้า (โควตา) และอัตราภาษีนำเข้าโซลาร์เซลล์ เป็นระยะเวลา 4 ปี และกำหนดปริมาณนำเข้าเครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ พร้อมทั้งภาษีนำเข้าเครื่องซักผ้าจากทั่วโลกรวมถึงไทย เป็นเวลา 3 ปี เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในของสหรัฐ ซึ่งเป็นไปตามการดำเนินนโยบาย American First

 

ประเด็นดังกล่าวทำให้ผู้ผลิตเครื่องซักผ้าถูกจำกัดโควตานำเข้าอยู่ที่ปีละ 1.2 ล้านเครื่อง ในอัตราภาษีในโควตาตั้งแต่ 20% และทยอยลดลงเหลือ 16% ปีที่ 3 ส่วนนอกโควตาต้องเสียภาษีในอัตรา 50% และทยอยลดลงเหลือ 40% ในปีที่ 3 และกลุ่มส่วนประกอบเครื่องซักผ้า กำหนดโควตา 50,000 ชิ้น ในปีที่ 1 ภาษี 50% ทยอยลดลงเหลือ 40% ในปีที่ 3 และเพิ่มโควตาเป็น 90,000 ชิ้น

ส่วนโซลาร์เซลล์จะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้า 30% ในปีที่ 1 และทยอยลดลงเหลือ 15% ในปีที่ 4 โดยการนำเข้าโซลาร์เซลล์ 2.5 จิกะวัตต์แรก จะได้รับการยกเว้นจากภาษีที่เพิ่มขึ้นนี้

ประเทศผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการเซฟการ์ดหลายประเทศ เช่น เกาหลี สิงคโปร์ จีน เตรียมยื่นฟ้องคัดค้านเซฟการ์ดสหรัฐต่อองค์การการค้าโลก (WTO)

เกาหลี-สิงคโปร์หารือกรอบ FTA

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้สหรัฐใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AD) กับสินค้าที่ผลิตในเกาหลี ทำให้ผู้ผลิตเกาหลีต้องย้ายฐานการผลิตมาไทย พร้อมทั้งยื่นฟ้องคัดค้านการใช้มาตรการดังกล่าวกับ WTO เมื่อปี 2013 โดยมีไทยและอีก 10 ประเทศ ได้แก่ บราซิล แคนาดา จีน สหภาพยุโรป อินเดีย ญี่ปุ่น นอร์เวย์ ตุรกี ซาอุดีอาระเบีย และเวียดนาม ได้เข้าร่วมเป็น third party ด้วย ล่าสุดมีสัญญาณว่าเกาหลีจะยื่นฟ้อง WTO ในเคสนี้เพิ่ม

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่าเกาหลีจะหารือกับสหรัฐ ภายใต้กรอบความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) สหรัฐ-เกาหลี ขอให้สหรัฐยกเว้น (exclude) เครื่องซักผ้าเพื่อให้เกาหลีสามารถส่งออกไปยังตลาดสหรัฐ ด้วยอัตราภาษีภายใต้เอฟทีเอ ซึ่งต่ำกว่าเซฟการ์ดและไม่มีโควตา แต่หากไม่สำเร็จอาจนำไปสู่กระบวนการหารือ (consaltation) ตามระบบ WTO หากไม่ได้ข้อสรุป จะตั้งคณะพิจารณา (panel)

เช่นเดียวกับสิงคโปร์ ซึ่งเตรียมจะหารือกับสหรัฐ เรื่องการยกเว้นเซฟการ์ดโซลาร์เซลล์ ตามกรอบความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างสิงคโปร์และสหรัฐ เช่นกัน สำหรับการหารือของสหรัฐและสิงคโปร์/เกาหลีใต้ ไม่ได้มีกำหนดระยะเวลาว่าจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเมื่อใด

สาเหตุที่ 2 ประเทศน่าจะดิ้นรนในกรอบเอฟทีเอก่อน เพราะใช้เวลาน้อยกว่าฟ้อง WTO

ประเด็นที่สหรัฐถูกโจมตี คือ โดยหลักสหรัฐสามารถใช้มาตรการเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในได้ แต่หากสหรัฐใช้มาตรการอย่างไม่มีเหตุผล/ไม่มีหลักฐาน หรือที่เรียก evidence unforseen ก็อาจนำไปสู่การฟ้องร้องได้ ซึ่งในอดีตสหรัฐเคยถูกฟ้องในสินค้าเหล็กมาแล้ว แต่ในครั้งนี้ USITC หน่วยงานของสหรัฐได้ศึกษาข้อมูลก่อนใช้มาตรการค่อนข้างจะ “ชัดเจน” กว่าที่ผ่านมา

นอกจากนี้ “เวียดนาม” ซึ่งเป็นหนึ่งในฐานการผลิตเครื่องซักผ้าเกาหลี ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) ที่เวียดนามเป็นสมาชิกยังไม่ได้ข้อสรุป จึงไม่สามารถใช้วิธีเดียวกับเกาหลีและสิงคโปร์ได้

ไทยจ่อร่วม third party

ขณะที่ไทยประเมินว่าประเด็นนี้จะยังไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุน และได้เตรียมข้อมูลเพื่อหารืออย่างไม่เป็นทางการกับสหรัฐแล้ว

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เห็นว่าประเด็นนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติในไทย และไทยกำลังติดตามความเคลื่อนไหวของการยื่นร้องต่อ WTO โดยจะมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าร่วมเป็น third party อย่างรอบคอบ ทั้งนี้ หากเข้าร่วมจะช่วยให้ไทยสามารถร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ และรับทราบข้อมูลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

เอกชนหวั่นกระทบสินค้าอื่น

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออก) มองว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหารือกับภาคเอกชน เพื่อพิจารณาผลดี ผลเสีย อย่างรอบคอบว่าจะเชื่อมโยงไปถึงการส่งออกในสินค้าอื่น ๆ หรือไม่

หากสหรัฐออกมาตรการอื่นใดที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย และยอดส่งออกสินค้านี้ไปสหรัฐปริมาณไม่มาก

สอดคล้องกับ นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เห็นด้วยที่ว่าไทยอาจจะต้องพิจารณาให้รอบคอบเนื่องจากการส่งออกเครื่องซักผ้าไปสหรัฐนั้น ไทยส่งออกไม่มาก และอาจต้องมองถึงผลกระทบทางด้านอื่น ๆ ด้วย

 

 

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

อ่านประชาชาติธุรกิจ ฉบับ e-Newspaper
หรือ e-Book ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”