“อิตาลี” เชื่อมั่นศักยภาพไทย

“อิตาลี” ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ประเทศแรกที่เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ หลังจากมีการปรับข้อมติของอียู เมื่อเดือน ธ.ค. ให้กลับมาติดต่อสัมพันธ์กับรัฐบาลไทย

 

“แองเจลิโน อัลฟาโน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิตาลี ได้เดินทางมาประเทศไทย เมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อสองเป้าหมายหลักคือ กระชับความสัมพันธ์ทางการทูตในโอกาสครบรอบ 150 ปี “ไทยและอิตาลี” และเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านธุรกิจการค้าของภาคเอกชน ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงนโยบายและเป้าหมายในการร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะโอกาสการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี

Q : เป้าหมายการเยือนประเทศไทยในครั้งนี้

วาระสำคัญคือเฉลิมฉลองครบรอบ 150 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย และอิตาลี ปีนี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับความสัมพันธ์ของเราทั้งสองประเทศ อิตาลีได้เตรียมจัดกิจกรรมต่าง ๆ ถึง 69 รายการ ที่มีกำหนดจัดครอบคลุม 299 วันของปีนี้ เพื่อเฉลิมฉลองร่วมกับประชาชนชาวไทย

ขณะที่ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ มีบทบาทที่สำคัญยิ่งในความสัมพันธ์ระหว่างไทย และอิตาลี ซึ่งปัจจุบันความสัมพันธ์ด้านการค้าของทั้งสองประเทศเป็นไปอย่างเข้มข้น และการแลกเปลี่ยนทางการค้าทั้งนำเข้าและส่งออกก็มีความสมดุล ด้วยมูลค่าเกือบ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี พ.ศ. 2560 การส่งออกของไทยไปยังอิตาลี เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 และการส่งออกจากอิตาลีมายังไทยก็อยู่ในเกณฑ์เดียวกัน คือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7

Q : อิตาลีมีเป้าหมายส่งเสริมความร่วมมือทางธุรกิจด้านใดเป็นพิเศษ

การจัดตั้งการประชุมภาคธุรกิจระหว่างไทย และอิตาลี หรือ Thai-Italian Business Forum ในปี 2558 และการที่พบปะกับกลุ่มนักธุรกิจของไทยที่ได้เข้าร่วมประชุมที่ทำเนียบเอกอัครราชทูตอิตาลี ประจำประเทศไทย ก็เป็นไปในทางเดียวกัน เราได้รับทราบถึงการลงทุนที่สำคัญระหว่างกัน แต่ศักยภาพในด้านการค้าและการลงทุนยังคงมีอยู่สูง เช่นที่ผ่านมาโรงงานผลิตเหล็กของบริษัทดานิเอลี ของอิตาลี และการตั้งฐานการผลิตจักรยานยนต์ดูคาติ ซึ่งเป็นแห่งเดียวนอกประเทศอิตาลี ตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง

ในส่วนของไทย กลุ่มเซ็นทรัลได้เข้าซื้อกิจการค้าปลีกห้างสรรพสินค้าที่มีประวัติยาวนานของอิตาลี คือห้าง “ลา รินาสเชนเต้” (La Rinascente) ซึ่งกำลังเปิดสาขาใหม่ ๆ ที่เมืองมิลาน และกรุงโรม

โดยเฉพาะการเปิดห้างใหม่ที่กรุงโรมประสบความสำเร็จอย่างมาก จากการที่สามารถบูรณะอาคารทางประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่า ที่นำส่วนที่ปรักหักพังสมัยโรมันที่อยู่ใต้พื้นดิน มาทำให้โดดเด่นขึ้น

Q : สนใจลงทุนอะไรในเขตเศรษฐกิจ EEC ของไทย

แน่นอนว่าอิตาลีสนใจในโครงการ EEC เมื่อครั้งล่าสุดที่มีการประชุม Business Forum เมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่เมืองมิลาน ท่านประธานร่วมฝ่ายไทยได้นำเสนอโปรเจ็กต์อีอีซี อย่างละเอียดชัดเจน ส่วนที่น่าสนใจมากสำหรับประเทศอิตาลี นอกจากการดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานและการขนส่ง ตามที่กำหนดในแผนพัฒนาแล้ว ยังมีส่วนของพลังงานทดแทน รวมถึงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และแผงพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมที่เชี่ยวชาญด้านเกษตรอาหาร สิ่งทอ แฟชั่น รองเท้า และเครื่องจักรทั่วไป เช่น เครื่องบรรจุหีบห่อ และเครื่องเย็น ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมการผลิตที่อิตาลีมีความเป็นเลิศประเทศหนึ่งในระดับโลก

เรากำลังพิจารณาถึงความเป็นไปได้ตั้งแต่ในปีหน้าที่จะส่งคณะผู้แทนทางธุรกิจการค้าในหลายสาขาเต็มคณะ เพื่อจะมาสำรวจโอกาสทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศไทย

Q : นอกจากประเทศไทย อิตาลีมองโอกาสในภูมิภาคเอเชียอย่างไร

เอเชียกำลังก้าวข้ามสู่การเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ กล่าวคือภายในปี พ.ศ. 2593 คาดว่าเอเชียจะมีสัดส่วนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของ GDP โลก (ปี พ.ศ. 2553 มี 27%) โดยรายได้ประชากรต่อหัวเฉลี่ยเท่ากับของยุโรป และสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรวมมีอัตราการเติบโตในระยะปีที่ผ่านมาในระดับโลก ทั้ง GDP โดยรวมของสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ทั้งเป็นตลาดที่มีประชากร 650 ล้านคน ทำให้กลายเป็น

กลุ่มที่ใหญ่เป็นที่ 6 ของเศรษฐกิจโลกไปแล้วในปัจจุบัน และน่าจะขยับขึ้นมาเป็นอันดับที่ 4 ในปี 2573 ส่วนอิตาลีในฐานะประเทศผู้ผลิตสำคัญ และมีการส่งออกที่แข็งแกร่ง ย่อมต้องให้ความสนใจอย่างแข็งขันต่อการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้

Q : กรณี “Brexit” จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอิตาลีอย่างไรบ้าง

ผมเข้าใจดีว่าเรื่องนี้กระตุ้นความสนใจของผู้คนประเทศไทยด้วย ว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของยุโรปและของโลกอย่างไร หลายเดือนที่ผ่านมา อิตาลีกำลังทำงานร่วมกับหุ้นส่วนสมาชิกยุโรปประเทศอื่น ๆ เพื่อลดผลกระทบจากวิกฤต Brexit ที่มีต่อประชาชน และบริษัทต่าง ๆ ขณะเดียวกันเพื่อแปลงวิกฤตให้เป็นโอกาส ในการเริ่มต้นใหม่ของ “โครงการยุโรปของ 27 ประเทศสมาชิก” ตามปฏิญญากรุงโรม เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2560 และในระดับทวิภาคี ขณะนี้ยังมองไม่เห็นผลกระทบโดยตรงจากเบร็กซิต ต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอิตาลี

ขณะที่อิตาลีมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ในโซนยุโรป เป็นที่สองด้านความสามารถในการผลิต เป็นประเทศหนึ่งที่เอื้อต่อการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า และการลงทุน เช่นเดียวกันกับสหภาพยุโรป ที่จะยังคงเป็นเทรดบล็อกที่ใหญ่ที่สุดในเวทีโลก ซึ่งเป็นตัวอย่างของระบบการค้าพหุภาคี บนพื้นฐานของกฎระเบียบที่ชัดเจนที่ใช้ร่วมกัน โดยที่มีประชากรมากกว่า 440 ล้านคน เราจึงหวังว่าความก้าวหน้าของกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางประชาธิปไตย จะทำให้เรากลับมาเริ่มเจรจากันใหม่ เพื่อสรุปข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทยได้สำเร็จ ซึ่งเป็นสิ่งที่ปรารถนาและก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน