เพิ่มก๊าซธรรมชาติเอราวัณ ลดนำเข้า Spot LNG แก้ปัญหาค่าไฟแพงปี’66

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเร่งหาเชื้อเพลิง หวังลดผลกระทบต้นทุนผลิตไฟฟ้า ภาระค่าไฟฟ้าของประชาชน ชี้ราคาพลังงานโลกวิกฤต Spot LNG ยังผันผวนลุ้นกำลังผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย กลับมาสู่ระดับปกติที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ได้ใช้ช่วงเดือน เม.ย. 2567 ช่วยลดค่าไฟ

วันที่ 27 ธันวาคม 2565 นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า กรมมีแผนงานสำคัญด้านการจัดหาเชื้อเพลิงพลังงานที่ต้นทุนไม่สูง ทั้งจากแหล่งในประเทศและเพื่อนบ้าน ซึ่งมีส่วนช่วยลดผลกระทบต้นทุนเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าและภาระค่าฟ้าของประชาชน

โดยเฉพาะการจัดหาเชื้อเพลิงพลังงานจากแหล่งในประเทศ ซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับเชื้อเพลิงประเภทอื่น ๆ และการนำเข้าจากต่างประเทศในสถานการณ์ราคาพลังงานโลกวิกฤตและราคา Spot LNG มีความผันผวนสูง

โดยในปี 2565 ที่ผ่านมาแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช ได้สิ้นอายุสัมปทานและได้เปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตครั้งประวัติศาสตร์ซึ่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ติดตามการดำเนินงานในช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ดี การผลิตของแหล่งเอราวัณที่ไม่สามารถผลิตได้ตามเป้าในช่วงแรกของสัญญา เนื่องจากการเจรจาระหว่างผู้รับสัญญารายใหม่และผู้รับสัมปทานรายเดิมเกี่ยวกับข้อตกลงในการเข้าพื้นที่ และการเจาะหลุมเพื่อเตรียมการผลิตปิโตรเลียมเป็นการล่วงหน้า ล่าช้ากว่าแผน

แต่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้บริหารจัดการโดยประสานผู้รับสัมปทานรายเดิมและผู้รับสัญญารายใหม่ให้ผลิตอย่างเต็มความสามารถของแต่ละแหล่ง จัดทำธรรมชาติเข้าระบบ

กำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยกลับสู่ระดับปกติ

ล่าสุด ปตท.สผ.ได้รายงานว่ากำลังผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะกลับมาสู่ระดับปกติที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ได้ใช้ช่วงเดือน เม.ย. 2567 จากปัจจุบันมีกำลังผลิตกว่า 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจะขึ้นมาที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เดือน ก.ค. 2566 และไปที่ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งหากกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจะมีส่วนช่วยทำให้ค่าไฟดีขึ้น แต่ด้วยภาระเงินค้าง กฟผ.ที่มีก็ต้องให้ กฟผ.ด้วย

“ก่อนหน้านี้ได้จัดทำสัญญาซื้อขายก๊าซเพิ่มเติมในแหล่งที่มีศักยภาพ (แหล่งอาทิตย์ แปลง B8/32 แปลง B-17 C-19 และแปลง B-17-01) ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย จัดหาก๊าซเพิ่มจากแหล่งยาดานาในประเทศเมียนมา จะทำต่อเนื่องไปถึงปี 2566 ทบทวนแผนการจัดหาก๊าซร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นระยะและวางแนวทางการบริหารจัดการการจัดหาก๊าซเติมเข้าระบบและเร่งรัดการลงทุนในแปลง G1/61 เพื่อเพิ่มกาลังการผลิตให้เป็นไปตามเป้าโดยเร็ว

โดยแหล่งบงกช/บงกชใต้ ในแปลง 16-17 จะมีการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานเป็น PSC (แปลง G2/61) ซึ่งจะทำให้ราคาก๊าซปรับลดลง อีกทั้งจัดหาก๊าซเพิ่มจากแหล่งอาทิตย์ แปลง B-17&C-19 และแปลง B17-01 ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย และแหล่งยาดานาในประเทศเมียนมา โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดหาก๊าซเพิ่มเติมจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย และแหล่งก๊าซ ในประเทศเมียนมาที่คาดว่าจะมีศักยภาพในอนาคต”

เปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจ-ผลิตปิโตรเลียมเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ปี 2566 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะจัดทำและทบทวนแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องเป็นระยะ ๆ พร้อมทั้งจัดหาก๊าซธรรมชาติเข้าระบบเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง กำกับดูแลผู้รับสัมปทานและผู้รับสัญญาในการจัดหาก๊าซธรรมชาติและการหยุดซ่อมบำรุงให้เป็นไปตามแผน โดยในระยะยาว กระทรวงพลังงานมีนโยบายส่งเสริมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

โดยมีการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพื่อความมั่นคงเพิ่มเติม ได้แก่ การเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ (รอบที่ 24) จำนวน 3 แปลง ในบริเวณทะเลอ่าวไทย มีพื้นที่ครอบคลุมกว่า 35,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติอยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอการพิจารณาคำขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

นอกจากนั้น ด้านการดำเนินงานและพัฒนา เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ในชั้นหินทางธรณีวิทยาของประเทศไทย จะเร่งผลักดันการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCUS
ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลและมีประสิทธิภาพสูงในการจัดการ CO2 เพื่อเป็นไปตามนโยบายการมุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ การดำเนินงานด้าน CCUS ในฐานะอนุกรรมการและเลขานุการคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก

ปัจจุบันมีการดำเนินงานด้าน CCUS ในประเทศ 23 โครงการ มีโครงการนำร่องที่สำคัญ ได้แก่ โครงการอาทิตย์ตั้งอยู่ในอ่าวไทย นอกชายฝั่งจังหวัดสงขลา จะเริ่มอัด CO2 ได้จริงภายในปี ค.ศ. 2026 โครงการพื้นที่อ่าวไทยตอนบน

คาดว่าจะมีศักยภาพในการกักเก็บ CO2 ในชั้นหินอุ้มน้ำเค็ม เพื่อจัดการ CO2 ที่มีการปลดปล่อยบริเวณพื้นที่จากนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกของประเทศ และโครงการแอ่งแม่เมาะและแอ่งลำปาง จังหวัดลำปาง โดยร่วมกับกรมการพลังงานทหาร กฟผ. ปตท.สผ. และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษาพื้นที่ศักยภาพเพื่อใช้ในการกักเก็บ CO2 จากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ