
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ
อุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นหนึ่งในธุรกิจเสาหลักของประเทศเมื่อ 40-50 ปีที่ผ่านมา ในยุคที่พัฒนาเปลี่ยนจากประเทศกสิกรรมเป็นประเทศอุตสาหกรรม เริ่มมีการขุดเจาะน้ำมันเกิดระบบการกลั่น จะมีการนำ by products ของปิโตรเคมี มาผลิตเป็นเส้นใยสังเคราะห์ เรียกว่า โพลีเอสเตอร์ (polyester)
ประเทศไทยจึงมีจุดแข็งตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ มีโรงงานโพลีเอสเตอร์ที่เป็นระดับท็อปของโลกทั้งของไทย คุ้นหูอย่าง ไทยโพลีเอสเตอร์ กังวาน เจียมพัฒนา รวมถึงต่างชาติที่เข้ามาลงทุน อย่าง เทยิน โพลีเอสเตอร์ อินโดรามา
- เช็กที่นี่ เงินอุดหนุนบุตร 600 บาท เดือนธันวาคม 2566 เงินเข้าวันไหน
- ในหลวง พระราชินี เสด็จฯส่วนพระองค์ ทรงร่วมแข่งเรือใบ จ.ภูเก็ต
- กรุงไทย-ออมสิน ระเบิดโปรฯ เงินฝาก “ดอกเบี้ยพิเศษ” เช็กเงื่อนไขที่นี่
จนถึงวันนี้อุตสาหกรรมสิ่งทอยังยืนหยัดสร้างรายได้ให้ประเทศ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “อัมรินทร์ ศรีสุภรวาณิชย์” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอไทย
เลือดใหม่ทายาทรุ่นที่ 3 ของครอบครัวสิ่งทอ หจก.สุรัตนพัฒการทอที่่คร่ำหวอดในวงการมาตั้งแต่ปี 1993 จากธุรกิจผ้า โรงทอผ้าที่มีจุดเริ่มต้นจากผ้ากุยเฮงที่สำเพ็ง จนถึงปัจจุบันมีกำลังผลิต 3 ล้านตารางเมตรต่อเดือน เขาเล่าถึงภาพลักษณ์ของสิ่งทอว่า “ในวงการจะไม่ค่อยรู้จัก เหมือนเราเป็นคนอยู่เบื้องหลัง เป็นต้นน้ำ วงการสิ่งทอในประเทศไทยมีรากฐานที่อยู่มายาวนาน””
9 สมาคมรวมตั้งสหพันธ์
สหพันธ์ก่อตั้งครั้งแรกประมาณช่วง 2516-2519 จากการรวมตัว 5 สมาคม คือ สิ่งทอไทย ทอผ้าไทย การ์เมนต์ ใยประดิษฐ์ และไหมไทย เป้าหมายเพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยในการเข้าร่วมประชุมกับคณะสิ่งทออาเซียน
มาถึงปัจจุบัน สหพันธ์ประกอบไปด้วย 9 สมาคม มีสมาคมที่เพิ่มเติมมา คือ สมาคมฟอกย้อมและตกแต่งสำเร็จ สมาคมพ่อค้าผ้าไทยหรือสำเพ็ง สมาคมชาวโบ๊เบ๊ และล่าสุดสมาคมนอนวูเว่น สมาชิกร่วมพันโรงงาน ยังไม่รวมในพื้นที่ จะมีกลุ่มเย็บรายย่อยอีกราว 400-500 ราย
จุดเปลี่ยนอุตสาหกรรม
“โมเดลประเทศไทยแปลกไปจากประเทศอื่น เดิมเลยไทยส่งออกการ์เมนต์เยอะ แต่ปัจจุบันการ์เมนต์ลดลง แต่การส่งออก เส้นใย เส้นด้าย และผ้าผืนเพิ่มขึ้นในสัดส่วนพอ ๆ กัน ต่างจาก CLMV ที่ 85-90% เป็นการ์เมนต์ ต้องบอกว่าไทยเรามีต้นน้ำ กลางน้ำ ที่เก่ง หลังจาก WTO ยกเลิกลดกำแพงภาษีโควตาสิ่งทอ ทำให้การส่งออกสิ่งทอเปิดกว้างมากขึ้น”
จุดเปลี่ยนเกิดมาตั้งแต่ค่าแรง 300 บาท กับบวกกับเอฟทีเออาเซียน และเวียดนาม มี FTA กับอเมริกา กับอียู ภาษีเป็นศูนย์ ทุกคนเริ่มคิด หรือไปผลิตที่กัมพูชา ลาว ก็ภาษีไปอียูก็เป็นศูนย์ แต่ไทยโดนหลายเปอร์เซ็นต์จึงทำให้โรงงานเสื้อผ้าย้ายไปแล้วนำผ้าจะประเทศไทยส่งออกไปผลิต
“แต่ที่เท็กซ์ไทล์ไม่ย้ายไปกับการ์เมนต์ เพราะการ์เมนต์จ้างเย็บเซตอัพใน 3 เดือนก็สามารถเปิดได้ แต่จะไปเปิดโรงงานอย่างน้อยต้อง 2 ปี และไม่แน่ใจเรื่องผลตอบรับ อย่างที่สองคือ การหาแหล่งเงินทุน สิ่งทอไม่อยู่ในอุตสาหกรรม new S-cuve การขอเงินทุนก็ยาก หรือต้องจอยต์เวนเจอร์กับต่างประเทศ
ซึ่งเขาก็ค่อนข้างโพรเท็กซ์ แต่หากจะไปลาวก็มีข้อจำกัดเรื่องไฟฟ้า เมียนมายังมีเรื่องการเปลี่ยนรัฐบาล กัมพูชาขาดเรื่องของอินฟราสตรักเจอร์ มาเลเซียเป็นคู่แข่งโมเดลคล้ายเรา ส่วนเวียดนามหลายคนเริ่มมองน่าสนใจ รัฐบาลเขาสนับสนุนสิ่งทอ แต่เขามีธุรกิจที่เก่าแก่อยู่เยอะ ตอนนี้สถานะสิ่งทอไทยเทียบกับอาเซียนไทยจึงเป็นฮับไฮเอนด์ มิดทูไฮ (กลางถึงบน)”
ภาพรวม 9 เดือนปี’65
ส่งออกสิ่งทอ 9 เดือนปีนี้ 5,300 ล้านเหรียญสหรัฐ บวก 11% ส่วนตัวเสื้อผ้าสำเร็จรูปบวกประมาณ 10.88% ภาพรวมสองกลุ่มอยู่ที่ 10% ปีนี้สิ่งทอโตขึ้นในทุก ๆ เซ็กเมนต์ แต่ต้องอธิบายโมเดลก่อนว่า ผู้ผลิตในประเทศไทยไปตั้งโรงงานเย็บที่กัมพูชา ลาว หรือเวียดนาม และเอาผ้าในไทยส่งไปเย็บที่นั่น ซึ่งจริง ๆ การ์เมนต์ของเราโตแต่ไปโตในต่างประเทศจึงไม่เห็น
แนวโน้มส่งออก ปี’66
ปี 2566 ตั้งเป้าไว้ว่าจะโตขึ้น 10-12% โตในอัตราที่ลดลงเพราะปี 2565 เราอั้นจากปี 2564
สิ่งที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาคือเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ทำให้ตัววัตถุดิบและสินค้ามีราคาสูงขึ้น ถ้ามองว่ามันทอนมาเป็นปริมาณสินค้าที่ส่งไปอาจจะเท่าเดิม ต่อมาค่าเงินไทยอ่อนที่สุดเลยคือ 38 บาทย่อลงมาเหลือ 35 บาท หายไป 10% ในเวลาแค่ 2 เดือน แบบนี้ค่อนข้างยาก วัตถุดิบสะวิง 40% เลย
ขณะที่ดอกเบี้ยคนที่มีปัญหาเรื่องหนี้สินโดนอันดับแรกเลย เพราะตอนนี้ดอกเบี้ยนโยบาย 1.25 จะขึ้นอีก 2 ครั้ง 0.25 มีผลแน่นอนคนที่มีค่าผ่อน
“ปีหน้ายังมองว่าส่งออกยังไปต่อ ต่อให้มีโควิด แต่ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจจะขยับ แต่ก็มีความท้าทายหลายส่วน หนึ่งคือ ค่าแรงเราเพิ่มขึ้น สินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ราคาสูงขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อ เราเชื่อว่ากำลังซื้อจะลดลงในภาพรวม ต้องบอกว่าสิ่งทอไม่ใช่ไพรออริตี้แรกแม้ว่าจะเป็นปัจจัยสี่เหมือนอาหาร ยา ที่อยู่อาศัยก็จริง แต่ผู้บริโภคจะใช้นานขึ้น ซื้อสินค้าที่ราคาย่อมเยา”
ค่าไฟทุบธุรกิจ
ค่าไฟกระทบหนักเลย เพราะพอค่าไฟขึ้น กระทบต่อต้นทุนโดยตรง ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น ตอนนี้หลายโรงงานก็มองว่าถ้าทำต่อจะคุ้มหรือไม่ บางโรงงานก็อาจจะเริ่มลดการผลิตลง เตรียมออกจากธุรกิจ สิ่งทอเป็นธุรกิจปิดง่ายแต่เปิดยาก ต้นทุนสูงแล้วมันไม่คุ้มค่า ถ้าใครปิดก็ยาวเลย
“ตอนนี้เราพยายามจะขึ้นน้อยที่สุด โดยปกติแล้วกลไกราคาเสื้อผ้าสำเร็จรูป ต้นทุนวัตถุดิบเป็นแค่เศษเสี้ยวส่วนหนึ่ง เพราะว่ากระบวนการขาย ต้องไปวางในห้างสรรพสินค้า มีกำไรระหว่างทาง เก็บสต๊อก อาจมีการขึ้นราคา 1 บาท พอเป็นวัตถุดิบ เราอาจจะขึ้นสัก 5%
ถามว่ากระทบกับราคาสินค้าสำเร็จรูปหรือไม่ สมมุติต้นทุนเราไป 20% สินค้าอุปโภคบริโภค ขึ้นได้เต็มที่ก็ 5% ขึ้นได้ช้าเพราะคนไทยค่อยข้างเซนซิทีฟกับราคา หรืออาจต้องเปลี่ยนโมเดล เปลี่ยนรูปแบบ เชื่อว่าจะยังไม่เห็นสินค้าสำเร็จรูปขึ้นราคา ยกเว้นสินค้าที่ออกมาใหม่”
“ผมจำได้ว่าตอนที่มีวิกฤตโควิดปิดประเทศ ภาครัฐระดมผู้ผลิตผ้าทั้งประเทศมาช่วยกันทำหน้ากากผ้าซึ่ง วันนั้นเราโชคดี เรายังมีเหลืออยู่ แต่ถ้าไม่เหลือเลยจะเป็นอย่างไร รัฐต้องมองอีกพิลาร์สำคัญ เรียกว่า ความมั่นคงทางซัพพลายเชนในประเทศไทย
ถ้าให้นำเข้าร้อยเปอร์เซ็นต์ประเทศไทยจะเสี่ยงสูญเสียความมั่นคงด้านสิ่งทอ เพราะไม่ใช่แค่เครื่องแบบ ยูนิฟอร์ม แต่ทั้งภาคกสิกรรม ภาครัฐ ภาคการทหาร หรือสิ่งทอเพื่อการแพทย์ สิ่งทอเพื่อการก่อสร้าง สิ่งทอที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ถ้าเราปล่อยให้หายไปหมด ตรงนี้เป็นปัญหาแน่นอน คิดว่ายังไงรัฐบาลก็ต้องส่งเสริมไว้”
“ผมเห็นด้วยหากรัฐจะไม่ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ไม่ปรับตัว แต่เชื่อว่าทุกคนพร้อมปรับพร้อมลุย ขอให้หน่วยงานรัฐลองใช้ของในประเทศ เราก็พยายามสู้ไม่ให้มันแพงมาก ต้นทุนค่าแรงตอนนี้มา 350 บาท จะให้ราคาถูกกว่าประเทศที่ค่าแรงน้อยคงไม่ได้ ประเทศที่ซักเซสเขาส่งเสริมของในประเทศเขา เขารู้ว่าถ้าปล่อย แล้วรัฐบาลต้องใช้ภาษี ถ้าคนไม่มีรายได้จะจ่ายภาษีได้อย่างไร”
เทรนด์รักษ์โลกปีหน้า
เทรนด์หนึ่งที่จะเห็นปีหน้า คือ การใส่ใจรักษ์โลก แต่สิ่งที่ตามมาคือต้นทุนการกลับเข้าระบบใหม่ซึ่งส่วนใหญ่จะแพงขึ้น แต่ก็มีคนทำ เกิดเป็นดีไซเนอร์ที่เอาความไม่สมบูรณ์ มาแปรเปลี่ยนเป็นเอกลักษณ์ เช่น กระเป๋า freitag นำผ้าใบมาเปลี่ยนเป็นถุง
หรือสตาร์ตอัพ มอร์ลูป ซึ่งเป็นทายาทของธุรกิจการ์เมนต์ นำเวสต์โปรดักต์ผ้า มาโพสต์ขายต่อยอดธุรกิจได้ วิธีคิดแบบนี้มันต้องมีคนที่กล้าคิดแล้วออกมาทำ แต่บางทีก็ไม่ง่าย
“ไทยพูดเรื่อง BCG เยอะ แต่หากจะสนับสนุนภาครัฐถือเป็นยูสเซอร์ใหญ่ในประเทศเริ่มก่อน หน่วยงานใดซื้อให้คูปองเค้าไปส่งเสริมเค้า ส่วนสหพันธ์ตอนนี้จะทำสหพันธ์ไดเรคทอรี่ รวบรวมข้อมูลสมาชิกให้ทุกคนต้องการสินค้าใดมาหาได้ ส่งเสริมไมโครแฟคทอรี่ นอกจากนี้จะร่วมงาน STYLE กับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในปีหน้า ส่งเสริมผู้ประกอบการเพื่อการส่งออก”