“สมาร์ทกริด” โมเดลใหม่ ปลุกลงทุน 2.7 แสนล้านใน 5 ปี

สมาร์ทกริด

ปัจจุบันการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนเป็นนโยบายที่กระทรวงพลังงานให้ความสำคัญมากขึ้น ซึ่งการผลิตพลังงานทดแทนเพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานนั้น จะต้องวางระบบผลิต คู่ขนานไปกับการสร้างเครือข่ายการส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือสมาร์ทไมโครกริด

ซึ่งจะเชื่อมโยงไฟฟ้าจากจุดผลิตกระจาไปยังผู้ใช้ และเชื่อมโยงไปเก็บในระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) สร้างเสถียรภาพให้กับระบบ ลดความผันผวนของระบบไฟฟ้าภายในพื้นที่

โรงไฟฟ้าบ้านขุนกลาง ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ นับได้ว่าเป็นต้นแบบระบบไฟฟ้าชุมชนแบบอัจฉริยะขนาดเล็ก ที่ผสมผสานระหว่างไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงและไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เข้าเก็บในแบตเตอรี่หรือระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) โดยใช้ระบบสมาร์ทไมโครกริด

ผลิตไฟป้อนโครงการหลวง

รศ.ดร.สุทธิชัย เปรมฤดีปรีชาชาญ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า โรงไฟฟ้าบ้านขุนกลาง มีกำลังการผลิต 210 MW ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 1,200,000 กิโลวัตต์ต่อปี มีฝายอยู่บนน้ำตกสูงจากโรงไฟฟ้า 160 เมตร ทำให้น้ำมีแรงดันสูงและสามารถปั่นกังหันผลิตกระแสไฟฟ้าได้

กฟผ.จึงได้ปรับปรุงระบบควบคุม เป็ผนสมาร์ทไมโครกริดเริ่มตั้งแต่ปี 2562 งบฯลงทุน 20 ล้านบาท สามารถผลิตกระแสไฟฟ้า แต่ปัญหาของโรงไฟฟ้ประเภทพลังงานหมุนเวียนที่พบ คือเกิดไฟตก ไฟดับ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ป่า

เมื่อมีต้นไม้หักโค่นพาดสายไฟจะทำให้ไฟดับเวลานาน อีกทั้งเมื่อโรงไฟฟ้าไม่มีระบบควบคุมแบบ Island Mode จึงทำให้โครงการหลวงไฟดับบ่อยครั้ง

สมาร์ทกริด

โครงการนี้ได้พัฒนาระบบเป็นแบตเตอรี่แบบใหม่ (ลิเทียม) ที่ไม่ระเบิดและไม่ติดไฟ และไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันไฟตกและดับได้ในทันที

นอกจากจะสามารถทดแทนเชื้อเพลิงดีเซลในการผลิตไฟฟ้าและต้นทุนที่สูงได้แล้ว ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซ 11.904 ตัน และช่วยการจ่ายไฟให้โครงการหลวงดอยอินทนนท์ และประชาชน 500 ครัวเรือน ได้อย่างต่อเนื่อง

“ในช่วงไฟขัดข้อง ระบบสมาร์ทไมโครกริดมีความสามารถควบคุมการทำงานแบบอัตโนมัติ ช่วยจ่ายไฟให้โครงการหลวงได้ตลอด 8 ชั่วโมงที่ไฟดับทันที โดยใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ร่วมจ่ายกับ Hydro หลังจากไฟกลับมาระบบชาร์จแบตเพื่อมีระดับ SOC กลับมาที่ 80% ซึ่งระบบสมาร์ทกริดนี้ลดทั้งต้นทุนค่าใช้จ่าย ลดการใช้น้ำมันดีเซล และลดปล่อยก๊าซ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

แก้ไฟฟ้าตกดับพื้นที่ห่างไกล

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและเป็นถิ่นทุรกันดาร การคมนาคมไม่สะดวก หรือเป็นพื้นที่ป่าเขา ยากต่อการวางระบบสาธารณูปโภค ทำให้เกิดปัญหาไฟฟ้าไม่เพียงพอหรือปัญหาไฟตกดับ ทาง สนพ.ได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนาระบบสมาร์ทกริด ที่บ้านขุนกลาง

วัฒนพงษ์ คุโรวาท
วัฒนพงษ์ คุโรวาท

เพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และการจัดการทรัพยากรในระบบจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อเป็นการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับชุมชนให้มีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ โดยล่าสุดได้ติดตั้งสายส่งไฟฟ้าจากพื้นราบแล้ว แต่ด้วยสภาพพื้นที่เป็นป่าเขา หากเกิดฝนตกหนักหรืออุทกภัยจะส่งผลกระทบต่อระบบสายส่งและเกิดไฟฟ้าดับเป็นเวลานาน

ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานต่าง ๆ ในโครงการหลวง รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน จึงร่วมกันพัฒนาติดตั้งระบบสมาร์ทไมโครกริดบ้านขุนกลาง พร้อมแบตเตอรี่ประเภท Li-Ion ขนาด 100 kW/150 Kwh. สามารถช่วยแก้ปัญหาไฟฟ้าตกหรือดับในพื้นที่ได้อย่างน้อย 95% เป็นเวลานานกว่า 8 ชั่วโมงในแต่ละครั้ง

“ระบบสมาร์ทไมโครกริดมีระบบกักเก็บพลังงาน หรือแบตเตอรี่ ซึ่งเปรียบเสมือน power bank ที่ช่วยกักเก็บพลังงานที่ได้นำพลังงานไฟฟ้าจากพลังน้ำและแสงอาทิตย์มาสำรองไว้ใช้ในยามจำเป็น ลดความผันผวนของระบบไฟฟ้าภายในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี”

ลุย PDP2022 ฉบับใหม่

สำหรับการพัฒนาระบบสมาร์ทกริดนั้นสอดรับกับแผนของ สนพ. ในการจัดทำแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (PDP2022) ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนพลังงานชาติ ระบบกักเก็บพลังงานถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้ได้ตามแผน และคาดว่าจะอยู่ในสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 50%

ซึ่งระบบกักเก็บพลังงานหรือแบตเตอรี่จะช่วยแก้ไขปัญหาความไม่เสถียรของพลังงานทดแทนอย่างลงตัว และช่วยส่งเสริมระบบไมโครกริด ซึ่งเป็นระบบไฟฟ้าขนาดเล็กที่รวมเอาระบบผลิตไฟฟ้า โหลดไฟฟ้า ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

สมาร์ทกริด

รวมถึงระบบกักเก็บพลังงานและระบบควบคุมอัตโนมัติเข้าไว้ด้วยกัน โดยสามารถลดภาระในการบริหารจัดการไฟฟ้าและต้นทุนของระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลัก ทำให้ระบบมีความมั่นคงขึ้น

“ระบบกักเก็บพลังงานหรือแบตเตอรี่มีความสำคัญต่อเทคโนโลยีพลังงานเป็นอย่างมาก ช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน โดยเฉพาะการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและระบบสมาร์ทกริด นอกจากนี้แบตเตอรี่ยังเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า

ซึ่งภาครัฐได้เตรียมการออกมาตรการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และการใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศ ซึ่งจะเป็นการช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการใช้พลังงานสะอาดตามกรอบแผนพลังงานชาติได้เป็นอย่างดี”

5 ปี Grid Modernization

แผนบูรณาการลงทุนและการดำเนินงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานระยะ 5 ปี (Grid Modernization) ได้รับการพิจารณาเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อเดือนมิถุนายน 2564

เป้าหมายเพื่อให้เกิดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานด้านนโยบาย หน่วยงานด้านการกำกับดูแล และหน่วยงานปฏิบัติการ กำหนดแผนการทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้า เสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน

สมาร์ทกริด

เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน และไม่ให้เป็นภาระต้นทุนส่วนเกินกับประชาชน

“ล่าสุดภาพรวมแผนงานการลงทุน Grid Modernization ในระยะ 5 ปี (2565-2570) ฉบับร่าง ณ เดือนธันวาคม ระบุว่า ได้ปรับปรุงแผนจากการหารือร่วมกัน ทำให้มีการลงทุนเหลือ 34 โครงการ เม็ดเงิน 272,090.59 ล้านบาท จากหลักเกณฑ์เดิมวางไว้ 55 โครงการ เม็ดเงิน 380,665.78 ล้านบาท”

โดยแบ่งเป็นส่วนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 19 โครงการ 104,403 ล้านบาท การไฟฟ้านครหลวง 2 โครงการ 47,361.8 ล้านบาท และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 16 โครงการ 120,325.79 ล้านบาท

โดยคาดว่าจะมีการนำเสนอต่อคณะกรรมการ ครั้งที่ 1/2566 ภายในไตรมาส 1