พาณิชย์ติดตามคู่ค้าใช้มาตรการ CBAM ปัจจุบันใช้แล้วกว่า 70 มาตรการ

ส่งออก

พาณิชย์เผยปี 2566 ติดตามประเทศคู่ค้าเตรียมมาตรการ CBAM ล่าสุดธนาคารโลกชี้มีกว่า 70 มาตรการ ขณะที่ 47 ประเทศ เปิดซื้อ-ขายคาร์บอนแล้ว กรมพร้อมยกระดับผู้ประกอบการเพื่อการแข่งขันการส่งออก

วันที่ 1 มกราคม 2566 นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้มีการติดตามความคืบหน้าถึงนโยบายและกฎระเบียบการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ซึ่งเป้าหมายหลายประเทศได้มีการประกาศออกมาว่าในปี 2050 ต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจก

สุทธิเป็นศูนย์ หรือที่เรียกว่า “Net Zero” ส่งผลให้หลายประเทศมีการเพิ่มมาตรการทางการค้าทั้งมาตรการภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษี โดยมีการรายงานจากธนาคารโลก เมื่อเดือนธันวาคม 2565 ระบุว่ามีการใช้มาตรการราคาคาร์บอน (carbon pricing instruments) กว่า 70 มาตรการ ซึ่งแบ่งเป็น 36 มาตรการ carbon tax หรือมาตรการทางภาษี และ 34 มาตรการ นำระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading System หรือ ETS) ใน 47 ประเทศ ทั่วโลก

ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์
ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์

อย่างเช่น นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สหราชอาณาจักร อียู แคนาดาอาร์เจนตินา ชิลี โคลัมเบีย เม็กซิโก ออสเตรีย นิวซีแลนด์ จีน ญี่ปุุน เกาลีใต้ สิงคโปร์ แอฟริกาใต้ เป็นต้น และมีประเทศอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการ ได้แก่ อินโดนีเซีย ไทย บราซิล บรูไนฯ ปากีสถาน รัสเซีย ตุรกี เวียดนาม

ทั้งนี้ ในปี 2565 การใช้มาตรการราคาคาร์บอนยังครอบคลุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 23.17% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลก โดยมาตรการทางการค้าเหล่านี้เป็นความท้าทายที่ภาคเอกชนไทยและภาครัฐต้องทำงานร่วมกัน เพื่อเตรียมการรับมือและปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเงื่อนไขการค้าโลกที่เปลี่ยนไป

สำหรับประเทศคู่ค้าสำคัญที่อยู่ระหว่างดำเนินการด้านมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างสหภาพยุโรป เมื่อเดือนธันวาคม 2562 คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้ออกแผนการปฏิรูปสีเขียว (European Green Deal) เป็นแผนยุทธศาสตร์ของสหภาพยุโรป เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50-55% ภายในปี 2573 และลดลงเป็นศูนย์ภายในปี 2593 โดยให้ความสำคัญกับมาตรการทางภาษีเป็นเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมาย โดยหนึ่งในมาตรการ คือ การจัดทำกลไกการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism-CBAM)

ล่าสุด กระบวนการออกกฎหมาย CBAM ได้เข้าสู่ขั้นตอนการเจรจาหารือ 3 ฝ่าย (trilogue) ระหว่างคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายบริหารของอียู รัฐสภายุโรป และคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ผลการเจรจาล่าสุด เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 ได้ผลสรุปเป็นข้อตกลงชั่วคราว (provisional agreement) ในบางประเด็น เช่น จะเริ่มบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค. 2566 โดยจะเริ่มต้นด้วยระยะเปลี่ยนผ่าน (transitional period) ก่อน แต่ยังหลายประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อสรุป ต้องรอผลการเจรจาร่างกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ส่วนสหรัฐเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 วุฒิสภาสหรัฐได้เสนอร่างกฎหมาย Clean Competition เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภาสหรัฐ ซึ่งประกอบด้วยมาตรการกำหนดกลไก ราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) สำหรับสินค้าที่ผลิตในประเทศ และมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : US-CBAM) สำหรับสินค้านำเข้า โดยตั้งเป้าเก็บภาษีคาร์บอนกับสินค้าที่กระบวนการผลิตมีการปล่อยคาร์บอนปริมาณสูง เสนอให้ผู้ผลิตของสหรัฐ และผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ จะต้องเสียภาษีคาร์บอน 55 เหรียญสหรัฐ ต่อการปล่อยคาร์บอน 1 ตัน หากกระบวนการผลิตสินค้ามีการปล่อยคาร์บอนเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด

โดยจะบังคับใช้กับสินค้า อาทิ เชื้อเพลิงฟอสซิล ผลิตภัณฑ์จากการกลั่น ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ปุ๋ย ไฮโดรเจน กรดอะดิพิก ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม กระจก เยื่อกระดาษและกระดาษ และเอทานอล ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2567 และภายในปี 2569 จะขยายให้ครอบคลุมสินค้า สำเร็จรูปที่มีสินค้าข้างต้นเป็นส่วนประกอบในการผลิต แต่อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายดังกลําวยังอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการต่าง ๆ ของสภาคองเกรส ซึ่งรัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดน ยังไม่มีท่าทีสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้นเรื่องนี้ยังต้องติดตามต่อไป

ส่วนญี่ปุ่น เมื่อปี 2021 ญี่ปุ่นได้ประกาศยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียว (Green Growth Strategy Through Achieving Carbon Neutrality in 2050) ซึ่งสะท้อนทําทีของญี่ปุ่นว่า การแก้ไขปัญหาโลกร้อนไม่ได้เป็นภาระต้นทุน แต้เป็นโอกาสที่จะดำเนินมาตรการเชิงรุก เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และจีน ได้มีการเปิดตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตระดับชาติ (National Carbon trading market) ในปี 2021 เพื่อเป็นแนวทางให้ธุรกิจและสินค้าจีนไม่ถูกกีดกันจากข้ออ้างเรื่องสิ่งแวดล้อม

โดยเมื่อ 1 สิงหาคม 2565 ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตระดับชาติ ซึ่งเปิดมาเป็นเวลา 1 ปี มีปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตรวม 194 ล้านตัน และรายได้จากการซื้อขายเกือบ 8,500 ล้านหยวน หรือประมาณ 45,635.93 ล้านบาท ตอกย้ำว่าจีนให้ความสำคัญและสนับสนุนหลายในเรื่องนี้

กรมเตรียมพร้อมรับมือ

นายภูสิต กล่าวอีกว่า จากความเคลื่อนไหวของประเทศคู่ค่าที่ดำเนินการนโยบายการลดปล่อยก๊าซ แม้ขณะนี้ จะยังไม่มีผลกระทบต่อการค้า การส่งออกสินค้าของไทย แต่หากผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกไม่มีการรับมือ โอกาสที่จะแข่งขันในตลาดก็จะลำบาก ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการ และสร้างโอกาสในการแข่งขัน กรมได้มีโครงการ BCG to Carbon Neutrality โดยร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) จัดกิจกรรมสัมมนาเสริมสร้างองค์ ความรู้และฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้าน BCG และ Carbon footprint แก่ผู้ประกอบการ BCG Heroes

โดยมีเป้าหมายว่าจะในปี 2566 จะมีผู้ประกอบการ BCG Heroes จำนวน 150 ราย ซึ่งปัจจุบันมีอยู่แล้ว 50 ราย และผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ ในกลุ่มหัตถอุตสาหกรรมสินค้าไลฟ์สไตล์ในพื้นที่ภาคกลาง และภาคเหนือ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และเพิ่มทักษะในการประกอบธุรกิจภายใต้แนวคิด BCG และเตรียมความพร้อมเพื่อยื่นขอฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์จาก อบก. ภายใต้ MOU ความร่วมมือในการส่งเสริมผู้ประกอบการในด้านการบริหารก๊าซเรือนกระจก ระหว่างกรม กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.

นอกจากการส่งเสริมให้ความรู้ อบรมและพัฒนาเพื่อยกระดับผู้ประการในการรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านมาตรการที่เกี่ยวข้องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว กรมฯก็ยังกิจกรรมส่งเสริมทางด้านการตลาด ผ่านหลายโครงการเพื่อที่จะทำให้ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกไทยแข่งขันได้ โดยมีทั้งกิจกรรมแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ การเจรจาจับคู่ธุรกิจ ซึ่งในปี 2566 จะเดินหน้ากิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ให้มากขึ้น พร้อมกับทำการประชาสัมพันธุ์สินค้าในกลุ่ม BCG ให้เป็นที่รู้จักผ่านช่องทางและแพลตฟอร์มต่าง ๆ

นอกจากนี้ ก็จะส่งเสริมการค้าออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มสำคัญในตลาดหลักของไทยด้วย เช่น อาทิ Tmall Global (จีน) Big Basket (อินเดีย) Amazon (สหรัฐฯ) Blibli (อินโดนีเซีย) Klangthai (กัมพูชา), PChome (ไต้หวัน) และ Shopee (มาเลเซีย)

อย่างไรก็ดี สินค้าที่มีโอกาสในการเติบโตมากในกลุ่ม BCG เช่น สินค้าไลฟ์สไตล์ สินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป สินค้าเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น อีกทั้งกรมเองก็ได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ทั่วโลกซึ่งมีสำคัญงาน 58 แห่งทั่วโลก ในการส่งเสริมกิจกรรมในสินค้าเหล่านี้ เพื่อเพิ่มรายได้และการส่งออกไทย