กยท.จับมือจิสด้าสำรวจพื้นที่ปลูกยาง

เพิ่มมูลค่า - นอกเหนือจากความร่วมมือ 3 ประเทศควบคุมการส่งออกยางในไตรมาสแรกปีนี้ เพื่อดันราคายางให้เพิ่มขึ้นแล้ว การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)และหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐยังสนับสนุนในการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่ายางให้มากขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ที่เป็นสมาชิก กยท.
กยท. จับมือจิสด้า นำดาวเทียมสำรวจพื้นที่ปลูกยางทั่วประเทศ ลุยสแกน 2 หมื่นจุด หวังสร้างฐานข้อมูลแผนที่ยางให้เป็นเอกภาพ ต่อยอดโครงการต่าง ๆ ในอนาคต

 

ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า กยท.เป็นองค์กรภาครัฐมีหน้าที่ในการบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบครบวงจร ซึ่งการบริหารจัดการยางทั้งระบบนั้น ต้องเข้าถึงข้อมูลปริมาณพื้นที่ปลูกยางพาราในภาพรวม เพื่อนำไปสู่การคาดการณ์ปริมาณผลผลิตยางที่จะออกสู่ตลาด การวางแผนบริหารจัดการวัตถุดิบยาง และการนำข้อมูลพื้นที่ปลูกยางพาราทั้งประเทศสู่การต่อยอดในโครงการต่าง ๆ ในอนาคต ซึ่งปัจจุบันมีหลายหน่วยงานได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลพื้นที่ปลูกยางอยู่หลายหน่วยงาน แต่ละหน่วยงานมีข้อมูลตัวเลขพื้นที่แตกต่างกัน เนื่องจากมีวิธีการดำเนินการสำรวจพื้นที่ที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นโครงการใช้ดาวเทียมในการสำรวจพื้นที่ปลูกยาง จะเป็นการร่วมมือกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานภายใต้กระทรวงมหาดไทย หน่วยงานภายใต้กระทรวงกลาโหมและผู้แทนเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในพื้นที่ต่าง ๆ จะทำให้ได้ข้อมูลพื้นที่ปลูกยางที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันและง่ายต่อการบริหารจัดการในอนาคต

ดร.ธีธัชกล่าวต่อว่า สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า เป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมในการสำรวจข้อมูลภูมิสารสนเทศ จะเข้ามามีส่วนช่วยในการสำรวจข้อมูลพื้นที่ปลูกยางพาราในประเทศด้วยดาวเทียม โดยร่วมกับ กยท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจพื้นที่ปลูกยางจากพื้นที่ตัวอย่างจำนวนไม่น้อยกว่า 2 หมื่นจุด กระจายตามสัดส่วนของพื้นที่ปลูกยางในแนวเขตที่ดินของรัฐ ได้แก่ พื้นที่อุทยานแห่งชาติจำนวนไม่น้อยกว่า 850 จุด พื้นที่ป่าสงวน อ.อ.ป. ส.ป.ก. จำนวนไม่น้อยกว่า 9,300 จุดและพื้นที่อื่น ๆ ไม่น้อยกว่า 9,850 จุด และมีการจัดกิจกรรมสร้างความเข้าใจในพื้นที่จำนวน 5 ครั้ง

“การร่วมมือกันระหว่าง กยท. จิสด้าและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศทางภูมิศาสตร์มาใช้พัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่ปลูกยางอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมที่มีความแม่นยำ เพื่อให้ได้ชุดข้อมูลพื้นที่ปลูกยางที่ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และใช้เป็นข้อมูลในการสำรวจพื้นที่ปลูกยางในพื้นที่ที่เหมาะสม การตรวจอายุยาง อายุไม้ยาง การคาดการณ์จำนวนผลผลิต สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นต่อการบริหารจัดการโครงการต่าง ๆ ของรัฐในการช่วยให้ราคายางมีเสถียรภาพและส่งผลดีต่อทุกภาคส่วนในอนาคต

ส่วนสถานการณ์ยางพาราไทยตั้งแต่มีการร่วมมือกับอินโดนีเซียและมาเลเซียลดการส่งออกยางใน 3 เดือนแรกปีนี้ 3.5 แสนตันว่า ไทยต้องลดการส่งออกประมาณ 2 แสนตันเศษหากคิดราคายางปลายปี 2560 วันที่ 22 ธ.ค. 2560 ที่ 145 เซนต์/กก.เทียบกับขณะนี้ที่ 153 เซนต์/กก. ราคายางขยับขึ้นมาแล้ว 15% ดังนั้น แม้ไทยต้องลดส่งออก 2 แสนตัน แต่ถ้าราคายางขยับจาก กก.ละ 40 บาท ขึ้นไปถึง กก.ละ 60 บาท มูลค่ายางจะเพิ่มขึ้นมาก

 

Advertisment