พาณิชย์ย้ำมาตรการบริหารจัดการสต๊อกล้น เร่งส่งออกน้ำมันปาล์มดิบไปแล้ว 1.57 แสนตัน คาดสิ้นเดือน ก.พ. ดันราคาผลปาล์มดิบ ขยับเกินเป้าหมาย ก.ก. 4.20 บาท ส่วนการนำเข้าถั่วเหลืองไม่กระทบราคาน้ำมันพืชปาล์ม
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ตามที่มีกระแสข่าวว่าปัจจุบันราคาผลปาล์มดิบทั่วประเทศยังมีราคาแตกต่างกันมาก และราคาที่ขยับสูงขึ้นในช่วงนี้ถือว่าไม่มีประโยชน์ เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยวเกษตรกรไม่มีผลผลิตมาจำหน่าย กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ขอชี้แจงว่า ราคาผลปาล์มที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ได้มีมติให้ใช้มาตรการลดปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบที่มีจำนวนมากกว่า 500,000 ตัน โดยได้เร่งรัดให้มีการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เพิ่มมากขึ้น
โดยในเดือนธันวาคม 2560 ส่งออกได้ 88,304 ตัน และเดือนมกราคม 2561 ส่งออกได้ 69,000 ตัน รวม 157,304 ตัน และปริมาณการส่งออกในปี 2560 ถึงเดือนมกราคม 2561 รวม 372,126 ตัน
พร้อมกันนี้ กระทรวงพลังงานได้รับมติ กนป. ไปดำเนินการ โดยใช้น้ำมันปาล์มดิบในน้ำมันไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นจากวันละ 4 ล้านลิตร เป็น 6 ล้านลิตร และเก็บสต็อกน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นอีก 50,000 ตัน ส่งผลให้ปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบที่เพิ่มสูงขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2560 จำนวน 532,651 ตัน ได้ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้สิ้นเดือนมกราคม 2561 ลดลงเหลือ 407,841 ตัน และคาดว่าสิ้นเดือนกุมภาพันธ์จะลดลงเหลือ 314,579 ตัน ซึ่งจะใกล้เคียงกับสต็อกระดับปกติที่ 300,000 ตัน ทำให้ราคาผลปาล์มน้ำมันที่ 18% ได้ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเดือนธันวาคม 2560 ราคาเฉลี่ย กก. ละ 3.37 บาท เดือนมกราคม 2561 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย กก. ละ 3.44 บาท โดยในปัจจุบัน (14 ก.พ. 61) ได้เพิ่มขึ้นเป็น กก.ละ 4.20 บาท และน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นเป็น กก.ละ 21.50 บาท
“แนวโน้มราคาผลปาล์มน้ำมันที่ 18% จะเพิ่มสูงขึ้นอีก คาดว่าภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ราคาจะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า กก. ละ 4.20 บาท ซึ่งเป็นราคาเป้าหมายที่เหมาะสมของกระทรวงพาณิชย์ ในส่วนของราคาผลปาล์มในภาคกลางที่ต่ำกว่าภาคใต้ มีสาเหตุจากพื้นที่ปลูกปาล์มในภาคกลาง ส่วนใหญ่จะอยู่ไกลจากโรงงานสกัดที่ตั้งอยู่ใน จ.ชลบุรี ทำให้ราคารับซื้อต้องหักค่าขนส่งไปโรงงานสกัด”
สำหรับการนำเข้าเมล็ดถั่วเหลือง มีความต้องการใช้เมล็ดถั่วเหลืองเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันถั่วเหลือง อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ จากปริมาณผลผลิตไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีการนำเข้าประมาณ 2 ล้านตันต่อปี รัฐบาลจึงกำหนดให้มีการนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองภายใต้ข้อผูกพัน WTO ในโควตา ไม่จำกัดปริมาณและช่วงเวลานำเข้า ภาษี 0% (นอกโควตา ภาษี 80%) โดยให้ผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลือง ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม โรงงานอาหารสัตว์ และสมาคมผู้เลี้ยงสัตว์ มีสิทธินำเข้าในโควตารวม 6 สมาคม 18 บริษัท ซึ่งมีการกำกับดูแลให้นำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองเพื่อใช้ตามวัตถุประสงค์ และต้องรับซื้อเมล็ดถั่วเหลืองที่ผลิตในประเทศทั้งหมดในราคาตามกลไกตลาด แต่ไม่ต่ำกว่าราคาขั้นต่ำที่กำหนด สำหรับเมล็ดถั่วเหลืองที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และอุตสาหกรรมอาหารสัตว์จะไม่สามารถนำมาผลิตน้ำมันถั่วเหลืองได้
อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านการการผลิตน้ำมันถั่วเหลือง จะใช้เมล็ดถั่วเหลืองที่ผลิต ในประเทศและเมล็ดถั่วเหลืองนำเข้าผลิตได้น้ำมันพืชถั่วเหลืองประมาณ 0.292 ล้านตันต่อปี คิดเป็นเพียง 15% ของปริมาณการผลิตน้ำมันพืชทั้งหมด (น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันพืชชนิดอื่นๆ) โดยใช้ในภาคอุตสาหกรรม 40% และใช้ในการบริโภคภาคครัวเรือน 60% ซึ่งปกติราคาขายปลีกน้ำมันพืชถั่วเหลืองจะสูงกว่าน้ำมันพืชปาล์ม แต่หากราคาขายปลีกน้ำมันพืชปาล์มเพิ่มสูงขึ้นใกล้เคียงกับราคาน้ำมันพืชถั่วเหลือง ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนอาจจะหันมาใช้น้ำมันพืชถั่วเหลืองทดแทนน้ำมันพืชปาล์ม
แต่ปัจจุบันราคาขายปลีกน้ำมันพืชปาล์มขวดลิตรละ 30 – 33 บาท ส่วนราคาขายปลีกน้ำมันพืชถั่วเหลือง ขวดลิตรละ 39 – 41 บาท ราคาน้ำมันพืชปาล์มต่ำกว่าน้ำมันพืชถั่วเหลือง ขวดลิตรละ 9-11 บาท จึงไม่มีผลทำให้การบริโภคน้ำมันพืชปาล์มลดลง