
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ
สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศยังมีความท้าทายเป็นอย่างมากในปี 2566 ท่ามกลางประเด็นปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้เกิดความขัดแย้งขยายวงไปหลายประเทศ ไทยยังต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นเครื่องจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ซึ่งภารกิจในการกำกับดูแลงานด้านกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ การค้าชายแดน รวมถึงการนำเข้า-ส่งออกสินค้าตามพันธะข้อตกลงต่าง ๆ อยู่ในหน้าตักของ “รณรงค์ พูลพิพัฒน์” อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศคนใหม่ ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า
- ประกาศใหม่ ผลประโยชน์ตอบแทนบำเหน็จชราภาพ ผู้ประกันตน ม.33,39
- ชัชชาติ พับ “ทางเลียบเจ้าพระยา” ดับโครงการในฝันประยุทธ์
- TRUE เกิดอะไรขึ้น ? ราคาดิ่ง-CHINA MOBILE ตัดขายทิ้ง 906 ล้านหุ้น
แผนเร่งด่วน ปี 2566
นโยบายการดำเนินงานของกรมในปี 2566 จะเริ่มผลักดันและส่งเสริมการค้าชายแดน โดยร่วมงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงมหาดไทย ในการเร่งผลักดันเปิดด่านชายแดนมากขึ้น โดยเฉพาะฝั่งด่านชายแดน สปป.ลาว กัมพูชา จากก่อนหน้านี้เปิดฝั่งมาเลเซีย ทำให้ภาพรวมเปิดด่านแล้ว 72 แห่ง จากทั้งหมด 97 แห่ง
หากมีการเร่งเปิดด่านค้าชายแดนมากขึ้นได้ในช่วงไตรมาส 1 จะส่งเสริมให้การค้า การส่งออก และการท่องเที่ยวขยายตัวมากขึ้น โดยช่วงที่ผ่านมาการค้าชายแดนและค้าผ่านแดนของไทย 11 เดือนแรกของปี 2565 มีมูลค่า 1.49 แสนล้านบาท เติบโต 1.52% ไทยส่งออก 944,105 ล้านบาท โดยตลาดหลักเราคือมาเลเซียเป็นอันดับ 1
“ต้นปี 2566 กระทรวงจะจัดคณะเจรจาเปิดด่านชายแดนไทย-สปป.ลาว ที่ยังไม่เปิดทำการหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และจะอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าอย่างเป็นรูปธรรมด้วย”
พร้อมกันนี้กรมจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศข้อมูลการค้าและการลงทุน (Commerce Intelligence Centre [Border and Transit Trade and SEZ]) หรือระบบ CIC BTS รวบรวมข้อมูลและระบบงานสำคัญ ทั้งข้อมูลสถิติ ข้อมูลการออกหนังสือสำคัญการนำเข้า-ส่งออกสินค้า และมาตรการ NTMs ของคู่ค้า ให้บุคคลภายนอกเข้าใช้ประโยชน์ได้
สำหรับแผนงานโครงการด้านการค้าชายแดนมี 3 โครงการ คือ การจัดมหกรรมการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย ในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. 66 มหกรรมการค้าชายแดน ณ จังหวัดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ด้านลาว จังหวัดเชียงราย หรือตาก หรือหนองคาย หรือมุกดาหาร หรือนครพนม และด้านเมียนมา ด้านกัมพูชา กาญจนบุรี หรือสระแก้ว หรือตราด
“ตัวเลขการค้าผ่านแดนไปจีนเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 11 เดือน ขยายตัว 26.35% มูลค่า 16,100 ล้านบาท จากการส่งออกทุเรียนสดมูลค่าถึง 5,573 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 173.9% แต่เราส่งไปหลายช่องทาง ไม่ใช่แค่ทางรถไฟ แต่ไปทางเรือ ทางเครื่องบิน ซึ่งผมมองว่าหลังจากจีนเปิดประเทศน่าจะดีขึ้น”
เข้มมาตรฐานสินค้านำเข้า
งานด้านการดูแลมาตรฐานสินค้านำเข้า-ส่งออก ตอนนี้มีสินค้าเกษตรที่อยู่ในกำกับ 9 ชนิด เช่น ข้าวหอมมะลิไทย ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ถั่วเขียว ถั่วเขียวผิวดำ แป้งมันสำปะหลัง เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจให้กับคู่ค้าได้
ยกตัวอย่างเช่น การดูแลมาตรฐานมันสำปะหลัง กรมจะดูแล ควบคุมมาตรฐานการนำเข้าให้มีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ราคามันสำปะหลังในประเทศปรับตัวสูงขึ้น กรมได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ด่านชายแดน
โดยเฉพาะด่านสำคัญ ๆ อย่างสระแก้วและจันทบุรี ร่วมมือกับกรมการค้าภายในใน ตรวจสอบรถที่ขนมันสำปะหลังที่ไม่ได้มาตรฐานจะระงับใบอนุญาตการนำเข้าส่งออก ปีก่อนระงับไป 2 ราย ล่าสุดได้พิจารณาอีก 1 ราย
“การดูแลมาตรฐานจะช่วยยกระดับราคามันสำปะหลังได้ เพราะขณะนี้แนวโน้มราคามันสำปะหลังดีต่อเนื่อง จากจีนมีความต้องการมันสำปะหลังเพื่อทำแอลกอฮอล์ ส่งผลให้ราคามันสำปะหลังในปี 2566 เพิ่มขึ้น หลังจากนี้ กรมจะร่วมกับ 4 สมาคมมันสำหลังประเมินเป้าหมายการส่งออกมันสำปะหลังปี 2566”
สินค้ามันสำปะหลังประเทศไทย ปัจจุบันไทยยังผลิตไม่เพียงพอใช้ ต้องนำเข้าวัตถุดิบ โดยภาพรวมการส่งออกผลิตภัณฑ์มันเส้น มันอัดเม็ด จะส่งไปยังตลาดจีนตอนใต้ ตุรกี นิวซีแลนด์ และฟิลิปปินส์ ส่วนแป้งมันจะส่งออกไปที่ยุโรป อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และซาอุดีอาระเบีย
“ตอนนี้ไทยพัฒนาต่อยอดจากมันสำปะหลัง เช่น พลาสติกชีวภาพ และฟลาว (แป้ง) ตั้งเป้าหมายว่าปี 2567 ไทยจะสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมจากมันสำปะหลังไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท โดยนำร่องจากเทอร์โมพลาสติกสตาร์ช และแป้งฟลาวปลอดกลูเตนไปยังตลาดสหภาพยุโรปและสหรัฐ”
ตั้งการ์ดสินค้านำเข้าดัมพ์ตลาด
การติดตามดูแลเรื่องมาตรการทุ่มตลาด หรือ เอดี กรมพิจารณาให้ความเป็นธรรม จะดูภาพรวม ไม่ได้เน้นเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น แต่ยังดูแลเพื่อสร้างความสมดุล ทั้งกลุ่มธุรกิจและผู้บริโภค หากการเก็บภาษีเอดีทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้า กรมจะเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาว่าจะเก็บ AD หรือไม่ ทั้งหมดจะต้องมีการศึกษารองรับ
“ก่อนหน้านี้กรณีที่มีการเก็บ AD เหล็กทินเพลต ซึ่งเป็นเหล็กที่ใช้ผลิตกระป๋อง ตอนนี้ได้มีการยกเว้นเอดีประมาณ 1.5 ปี ไปจนถึงกลางปี 2566 จากนั้นจะมีการพิจารณาศึกษาทบทวนในเรื่องนี้ว่าจะมีการต่ออายุหรือไม่ โดยจะต้องมีการพิจารณาในภาพรวมทั้งผู้ผลิตและผู้นำเข้า”
นอกจากนี้ ก็มีการพิจารณาอีก 4-5 กรณีในปีนี้ ซึ่งในจำนวนนี้มีสินค้าที่จะหมดอายุการใช้มาตรการในปี 2566 และคาดว่าอุตสาหกรรมภายในอาจจะยื่นขอให้เปิดทบทวนเพื่อต่ออายุมาตรการ คือสินค้ายางในรถจักรยานยนต์จากจีน จะหมดอายุ ในวันที่ 29 พ.ย. 66 และสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจือโบรอนชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วนจากจีน จะหมดอายุมาตรการในวันที่ 12 ธ.ค. 66
ส่วนกรณีที่ไทยถูกฟ้องร้องเรียกเก็บเอดี ปัจจุบันมี 2 รายการคือ แผงโซลาร์เซลล์ และลวดเย็บกระดาษ โดยสหรัฐพิจารณาเรียกเก็บเอดีโซลาร์เซลล์แล้ว แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการยกเว้นการใช้
โดยประธานาธิบดีสหรัฐ กรมได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการ ให้ข้อมูลเพื่อไปใช้ประกอบการพิจารณาไต่สวนของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เพราะการให้ข้อมูลถือเป็นสิ่งสำคัญ หากบริษัทให้ข้อมูลที่ถูกต้องก็จะเป็นผลดี ส่วนลวดเย็บกระดาษยังอยู่ระหว่างการไต่สวน
สำหรับภาพรวมในปี 2565 ไทยดำเนินมาตรการ AD กับสินค้า 13 กรณี จากทั้งหมด 24 กรณี และไทยถูกใช้มาตรการ 90 มาตรการ คือ AD 71 กรณี CVD 5 กรณี และเซฟการ์ด 14 กรณี
ยกเครื่องกฎหมาย 2 ฉบับ
ขณะเดียวกันกรมยังได้ปรับปรุงกฎหมายในการกำกับ เช่น พ.ร.บ.การควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ. TCWMD) พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ. AD-CVD)
โดยเปิดรับความเห็นกฎหมายเอดีไปจนถึง 31 มกราคม 2566 ก่อนที่นำไปทบทวนปรับปรุง เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยและคล่องตัวในการทำงานมากขึ้น
หนุนใช้สิทธิ FTA
สุดท้ายคือภารกิจ สนับสนุนการใช้สิทธิประโยชน์ ภายใต้ความตกลงต่าง ๆ อาทิ FTA และ RCEP เป็นต้น เพื่อสร้างแต้มต่อทางการค้า ลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการไทย
ซึ่งในปี 2565 (มกราคม-ตุลาคม) ผู้ส่งออกไทยใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ความตกลง FTA เป็นมูลค่า 71,882.18 ล้านเหรียญสหรัฐ และ RCEP คิดเป็นมูลค่า 819.05 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว
“กรมจะต้องมุ่งส่งเสริมการใช้ เพราะในปี 2576 จะมีการยกเลิกภาษีสินค้าเพิ่มมากขึ้น 15% ของรายสินค้าทั้งหมด โดยจะเป็นสินค้าที่ไม่ได้ยกเลิกภาษีตามความตกลง FTA ฉบับอื่นจะมายกเลิกในส่วนของ RCEP จำนวน 116 รายการ และอีก 389 รายการในปี 2581 และอีก 49 รายการในปี 2586 โดยจะต้องจัดสัมมนาให้ความรู้เรื่องการใช้สิทธิประโยชน์และนำเทคโนโลยีมาช่วยให้บริการเพิ่มขึ้น”