“บิ๊กอู๋” ย้ำ รัฐบาลทำเต็มที่ มั่นใจแรงงานประมงผิดกฎหมายหมดไปจากประเทศไทย

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำ ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงานว่า รัฐบาลไทยได้มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมงอย่างจริงจังในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และได้ดำเนินการออกมาตรการเพื่อคุ้มครองแรงงานทั้งในด้านกฎหมาย นโยบาย การบังคับใช้ การเยียวยาคุ้มครองผู้เสียหาย รวมทั้งมีความร่วมมือกับทั้งภาคเอกชน NGOs องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) สหภาพยุโรป (EU) และรัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งส่งผลให้สถานการณ์ด้านแรงงานในภาคประมงเปลี่ยนแปลงไป
ในทิศทางที่ดีและพัฒนาขึ้นในหลายด้าน

พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวต่อว่า รัฐบาลมั่นใจว่าการดำเนินการที่ผ่านมาสามารถแก้ไขปัญหาแรงงานประมงในประเทศไทยให้หมดไปจากประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน โดยได้ดำเนินมาตรการที่มีความคืบหน้าในหลายประการ อาทิ การบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ การตรวจแรงงานอย่างเข้มข้นและเป็นระบบ

ซึ่งในปี 2561 จะมีพนักงานตรวจแรงงานรวมทั้งสิ้น 1,692 คน และจากผลการบังคับใช้กฎหมายที่มีความเข้มงวดมากขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการป้องปรามการใช้แรงงานผิดกฎหมายอย่างเข้มข้น มีการดำเนินคดีกว่า 4,240 คดี โดยขยายผลเป็นการดำเนินคดีค้ามนุษย์จำนวน 85 คดี

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังได้มีมาตรการทำให้แรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและจัดเก็บอัตลักษณ์ การกำหนดให้นายจ้างต้องจัดทำสัญญาจ้างเป็นภาษาของลูกจ้างและให้ลูกจ้างเก็บไว้ 1 ฉบับ การจัดระเบียบบริษัทจัดหาแรงงานต่างด้าว โดยให้มาขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง การกำหนดหลักเกณฑ์ให้แรงงานต่างด้าวสามารถยื่นขอเปลี่ยนนายจ้างได้อย่างชัดเจนและครอบคลุมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะแรงงานภาคประมง การออกกฎหมายห้ามใช้แรงงานอายุต่ำกว่า 18 ปี ในสถานที่อันตราย รวมถึงในเรือประมงและโรงงานแปรรูปอาหารทะเล การร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 188 การทำงานในภาคประมง และพิธีสารภายใต้อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 29 แรงงานบังคับ และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง รวมทั้งการขยายช่องทางการรับรู้เรื่องสิทธิแรงงานอีกด้วย

ทั้งนี้ สถานการณ์แรงงานประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2561 พบว่า มีแรงงานประมงทะเลทั้งสิ้น 128,669 คน เป็นแรงงานไทยที่ได้รับ Seaman Book จำนวน 57,781 คน และแรงงานต่างด้าวที่ได้รับ Seabook จำนวน 70,888 คน ส่วนแรงงานต่างด้าวในกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ
ณ เดือนธันวาคม 2560 จำนวน 222,274 คน