บูม! “พาณิชย์” เผยยอดธุรกิจบริการเกิดใหม่ปี”60 พุ่ง19% จำนวน 6,598 ราย

ธุรกิจบริการบูม “พาณิชย์” ระบุ ยอดธุรกิจบริการเกิดใหม่ปี 60 พุ่ง 19% จำนวน 6,598 ราย ทุนจดทะเบียนมูลค่า 2.16 หมื่นล้านบาท เพิ่ม 42%
นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า การผลักดันธุรกิจบริการที่กรมส่งเสริมตามนโยบายของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ พบว่ามีแนวโน้มการขยายตัวธุรกิจบริการของไทยในอัตราดีขึ้นต่อเนื่อง โดยสถิติการจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่ปี 2560 พบว่ามีธุรกิจบริการที่เข้ามาจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่จำนวน 6,598 ราย เพิ่มขึ้น 19% หรือเพิ่มขึ้นจำนวน 1,017 ราย เทียบกับปี 2559 มีมูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ 2.16 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% หรือเพิ่มขึ้น 6,379 ล้านบาท เทียบกับปี 2559

ทั้งนี้ ธุรกิจบริการที่มีการจัดตั้งใหม่ปี 2560 แยกเป็น ธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกสินค้าทั่วไป จำนวน 995 ราย เพิ่มขึ้น 3% ทุนจดทะเบียนรวม 2,287 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% ธุรกิจแฟรนไชส์ จำนวน 40 ราย เพิ่มขึ้น 11% ทุนจดทะเบียนรวม 627 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 76% ธุรกิจโลจิสติกส์ 2,611 ราย เพิ่มขึ้น 16% ทุนจดทะเบียนรวม 1.23 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 157% ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ จำนวน 155 ราย เพิ่มขึ้น 24% ทุนจดทะเบียนรวม 664 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 84%

ธุรกิจก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย 555 ราย เพิ่มขึ้น 54% ทุนจดทะเบียนรวม 896 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44% ธุรกิจร้านอาหาร 2,006 ราย เพิ่มขึ้น 25% ทุนจดทะเบียนรวม 4,513 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49% และธุรกิจสุขภาพ 236 ราย เพิ่มขึ้น 22% ทุนจดทะเบียนรวม 345 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22%

ด้านผลประกอบการของธุรกิจบริการจากข้อมูลงบการเงินรอบปีบัญชี 2559 ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2560 พบว่าธุรกิจค้าปลีกค้าส่งสินค้าทั่วไปมีรายได้ 5.87 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% ธุรกิจแฟรนไชส์มีรายได้ 1.11 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 49% ธุรกิจโลจิสติกส์มีรายได้ 7.61 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% ธุรกิจบริหารสินทรัพย์มีรายได้ 2.15 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 132% ธุรกิจก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยมีรายได้ 8.37 หมื่นล้านบาท ลดลง 3% ธุรกิจร้านอาหารมีรายได้ 2.02 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% และธุรกิจดูแลสุขภาพมีรายได้ 4,105 ล้านบาท ลดลง 5% 5

“กลุ่มธุรกิจบริการที่เป็นเป้าหมายในการส่งเสริมของกรม เป็นธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตน่าสนใจ ทั้งในแง่ของจำนวนกิจการ มูลค่าการลงทุน และผลประกอบการในอดีต ซึ่งการพัฒนาธุรกิจเหล่านี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและรายได้ของประเทศ รวมถึงส่งเสริมให้ธุรกิจเกิดความเข้มแข็งเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทย” นาง กุลณี กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 กรมยังคงเน้นการส่งเสริมธุรกิจบริการในกลุ่มธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกสินค้าทั่วไป ธุรกิจแฟรนไชส์ ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ ธุรกิจก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย ธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจบริการเพื่อสุขภาพ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนตามนโยบายส่งเสริมธุรกิจบริการของรัฐบาลต่อไป

สำหรับการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อี-คอมเมิร์ซ) และได้รับเครื่องหมาย DBD Registered เพื่อยืนยันการมีตัวตนของผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบันมีผู้ได้รับเครื่องหมาย DBD Registered จำนวน 2.92 หมื่นราย ประกอบด้วยนิติบุคคล จำนวน 6,434 ราย คิดเป็นสัดส่วน 22% บุคคลธรรมดา จำนวน 2.28 หมื่นราย คิดเป็นสัดส่วน 78% และมีร้านค้าออนไลน์ที่ได้รับเครื่องหมาย DBD Registered จำนวน 3.22 หมื่นร้านค้า โดยธุรกิจที่ได้รับเครื่องหมาย DBD Registered สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจการแพทย์ สุขภาพ ยา สมุนไพร สปา จำนวน 5,656 ร้านค้า รองลงมาธุรกิจแฟชั่น/เครื่องแต่งกาย/เครื่องประดับ จำนวน 4,931 ร้านค้า และธุรกิจคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ ไอทีและซอฟแวร์ จำนวน 2,924 ร้านค้า