6 บ.ตบเท้าเข้าสมาร์ทพาร์ค เขตส่งเสริมอุตฯ”เอสเคิร์ฟ”

สมาร์ทพาร์ค - พื้นที่ 1,500 ไร่ ของนิคมอุตสาหกรรม Smart Park ที่จะรวม 4 อุตสาหกรรมสำคัญไว้ เช่น อุตสาหกรรมทางการแพทย์ โลจิสติกส์ การบินและอวกาศ เป็นต้น

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นิคมอุตสาหกรรม Smart Park ขนาด 1,500 ไร่ ซึ่งอยู่ในนิคมมาบตาพุด จ.ระยอง และอยู่ในพื้นที่ ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ด้วยนั้น ได้ประกาศเป็นเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) แล้ว ดังนั้น กนอ.จึงกำหนดอุตสาหกรรมสำคัญที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่รวม 4 กลุ่มคือ 1) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ผสมผสานการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ 2) อุตสาหกรรมโลจิสติกส์การบินและอวกาศ ที่จะเริ่มจากการบริการเพื่อขนส่ง ไปถึงการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานไร้คนขับ (drone) และระบบนำทางซอฟต์แวร์ 3) อุตสาหกรรมอุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์และจักรกล และ 4) อุตสาหกรรมดิจิทัล เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต เชื่อมต่อปัญญาประดิษฐ์ อย่างเช่นซอฟต์แวร์ที่ฝังในตัวระบบหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บางประเภท

สำหรับทั้ง 4 อุตสาหกรรมจะได้รับสิทธิประโยชน์การลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) คือได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล8 ปี หรือสูงสุด 13 ปี ได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มเติมอีก 5 ปี หลังสิ้นสุดระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามเกณฑ์ปกติ โดยมีเงื่อนไขต้องร่วมกับสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ฝึกอบรมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสัดส่วนร้อยละ 10 ของจำนวนพนักงานนั้น ๆ หรือขั้นต่ำ 50 คน เวลา 1 ปี ทั้งนี้นิคมอุตสาหกรรม Smart Park จะแบ่งออกเป็น 4 ส่วน แบ่งเป็นพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรม 723.78 ไร่ พื้นที่พาณิชยกรรม 147.18 ไร่ พื้นที่ระบบสาธารณูปโภค 393.50 ไร่ พื้นที่สีเขียวและแนวกันชน 236.51 ไร่

“ในพื้นที่โครงการ Smart Park จะมี 6 บริษัทเข้ามาร่วมลงทุนราว 1,000 ล้านบาท อย่างเช่นบริษัท พีทีที โพลีเมอร์ โลจิสติกส์ จำกัด ที่ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการตั้งศูนย์กระจายสินค้า รวมถึงบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เตรียมพัฒนาการใช้พลังงานจากนวัตกรรมพลังงานอัจฉริยะ และบริษัท โกลบอล ยูทิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด ที่จะออกแบบระบบสาธารณูปโภคให้เหมาะสมต่ออุตสาหกรรมของโครงการ เป็นต้น”

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ทั้ง 4 อุตสาหกรรมสำคัญดังกล่าวมีการยื่นขอส่งเสริมการลงทุนในปี 2560 ที่ผ่านมาแบ่งเป็น อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ขอรับการส่งเสริม 52 โครงการ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากปีก่อนร้อยละ 148 มูลค่าลงทุน 13,099 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 68 อุตสาหกรรมโลจิสติกส์การบินและอวกาศ ขอรับส่งเสริมการลงทุนรวม 7 โครงการ มูลค่า 1,899 ล้านบาท

อุตสาหกรรมอุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์และเครื่องจักรกล ขอรับส่งเสริม21 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 75 มูลค่าลงทุน 1,830 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 และอุตสาหกรรมดิจิทัล เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตมีการลงทุน 92 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 มูลค่าลงทุน 53,564 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11