ปะทุศึกประธานสภาอุตสาหกรรม “สุพันธุ์”คัมแบ็กขอท้าชิง”เจน”รอบสอง

“เจน-สุพันธุ์” เปิดศึกชิงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ท่ามกลางคลื่นใต้น้ำของกลุ่มขัดแย้งเดิมที่หนุน “สุพันธุ์” เดินหน้าหาเสียง ชูผลงานช่วยเหลือสมาชิก SMEs จนสำเร็จ แต่กลุ่มอุตสาหกรรม ส.อ.ท.ส่วนใหญ่กลับหนุน “เจน” ใช้ความเงียบสยบความเคลื่อนไหวไม่หาเสียงแข่ง ลุ้นวันเลือกตั้งทีเดียวจบ ส่วนสมาชิก ส.อ.ท.จังหวัดใหญ่ขอจับตานโยบายว่าที่ประธาน ส.อ.ท.คนใหม่ ก่อนตัดสินใจเลือกใคร

แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงสถานการณ์ภายในก่อนที่จะมีการประชุมใหญ่ประจำปี 2561 ในเดือนมีนาคมเพื่อเลือกตั้งประธาน ส.อ.ท.คนใหม่ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าชิงตำแหน่งดังกล่าวเพียง 2 คนคือ นายเจน นำชัยศิริ ประธาน ส.อ.ท.คนปัจจุบัน กับนายสุพันธุ์ มงคลสุธี อดีตประธาน ส.อ.ท. โดยนายสุพันธุ์มีฐานเสียงสนับสนุนจากสมาชิก ส.อ.ท.ต่างจังหวัด ในขณะที่นายเจนมีฐานเสียงสนับสนุนจากหลายกลุ่มอุตสาหกรรมใน ส.อ.ท.

ทั้งนี้ นายสุพันธุ์ได้เดินหน้าหาเสียงกับสมาชิก ส.อ.ท.ในต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ด้วยการชูผลงานการช่วยเหลือสมาชิกในช่วงที่ดำรงตำแหน่งก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายกลางถึงรายเล็ก (SMEs) แต่อย่างไรก็ตาม มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการเข้ามาชิงตำแหน่งของนายสุพันธุ์ครั้งนี้เป็นเรื่องที่ “ไม่เคยมีมาก่อน” เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาไม่เคยปรากฏว่าผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งประธาน ส.อ.ท.ในอดีตจะย้อนกลับมาสมัครในตำแหน่งเดิมอีก “แต่ก็สามารถกระทำได้” โดยมีการพูดกันถึงขั้นว่า “จะเป็นการต่อยอดทางการเมืองของนายสุพันธุ์”

ล่าสุด มีความเคลื่อนไหวในกลุ่มสมาชิก ส.อ.ท.ระดับอาวุโส ต่างแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการกลับมาสมัครประธาน ส.อ.ท.ของนายสุพันธุ์ เพราะหากปล่อยให้ทั้ง 2 ฝ่ายดำเนินการขับเคี่ยวหาเสียงกับสมาชิกต่อไปก็จะนำไปสู่ “ความแตกแยก” ออกเป็น 2 ฝ่ายเหมือนในอดีต กล่าวคือ กลุ่มอุตสาหกรรม กับกลุ่ม ส.อ.ท.จังหวัด และจะเกิดปัญหาบานปลายจนกระทบต่อความน่าเชื่อถือขององค์กรในที่สุด แต่จนถึงขณะนี้ นายสุพันธุ์ยังคงมีความพยายามหาเสียงกับสมาชิกต่อเนื่อง จนทำให้สมาชิกต่างกังวลว่าการประชุมใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคมอาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้

“เชื้อจากความแตกแยกของส.อ.ท.ในครั้งที่แล้วยังอยู่ การกลับมาชิงตำแหน่งประธาน ส.อ.ท.ของนายสุพันธุ์ครั้งนี้มีการวางแผนไว้อย่างชัดเจนแล้ว อาทิ มีการปล่อยข่าวว่ามีข้อตกลงระหว่าง นายเจนกับนายสุพันธุ์ว่าจะผลัดกันนั่งในตำแหน่งประธาน ส.อ.ท.คนละ 2 ปี ทั้งที่ความเป็นจริงไม่เคยมีสัญญาดังกล่าวซึ่งคนใน ส.อ.ท.รู้กันอยู่ว่าไม่มีข้อตกลงนี้ ผมเข้าใจว่าในช่วงสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้งคงจะต้องหารือร่วมกันทั้ง 2 ฝ่ายว่าจะไปในทิศทางใดระหว่างเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกัน หรือสู้กัน ผ่านการเลือกตั้งให้ชัดเจนไปเลย” แหล่งข่าวกล่าว

ด้านนายสุรพล สุทธิจินดา ประธาน ส.อ.ท.จังหวัดระยอง เชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งประธาน ส.อ.ท.ครั้งนี้ไม่น่าจะเกิดปัญหา เพราะช่วงที่ผ่านมาประธานคนปัจจุบันก็สามารถผลักดันการช่วยเหลือสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการ SMEs จนสำเร็จและเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม และสมาชิกส่วนใหญ่ต่างก็ต้องการให้สานต่อเรื่องดังกล่าวต่อไป ขณะเดียวกันสำหรับนโยบายส่วนกลางเมื่อกำหนดได้แล้ว ก็อยากให้เชื่อมโยงกับสมาชิกในภูมิภาคมากขึ้นด้วย

ขณะที่นายไพสิทธิ์ ปิติทรงสวัสดิ์ ประธาน ส.อ.ท.จังหวัดนครราชสีมากล่าวยอมรับว่า ในอดีต ส.อ.ท.มีประสบการณ์ความขัดแย้งเกิดขึ้น เนื่องจากไม่มีการแก้ปัญหาในประเด็นค่าแรงขั้นต่ำที่กระทบสมาชิกอย่างหนัก รวมถึงกฎระเบียบเดิมที่ใช้อยู่ไม่ได้ให้บทบาทกับสมาชิก ส.อ.ท.ในต่างจังหวัดในการโหวตเพื่อเลือกประธาน ส.อ.ท.มากนัก อย่างไรก็ตาม สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ยังต้องจับตาดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายของผู้สมัครแต่ละคนจะดูแลสมาชิกอย่างไร โดย ส.อ.ท.นครราชสีมาต้องการให้ประธาน ส.อ.ท.คนใหม่เข้ามาผลักดัน กรณีผังเมือง ที่ไม่ได้อนุญาตให้กิจการหลายประเภทตั้งโรงงานในพื้นที่สีเขียว เช่น โรงสีข้าว โรงงานเกษตรแปรรูป

รายงานข่าวเพิ่มเติมเข้ามาถึงผลงานของนายเจน นำชัยศิริ ประธาน ส.อ.ท.คนปัจจุบันก็คือ การสานต่องานสำคัญในเรื่องของ SMEs ซึ่งแม้จะไม่ใช่ผู้วางนโยบายมาตั้งแต่ต้น แต่เป็นผู้เดินหน้าทำให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นจนสำเร็จ โดยการกำหนดวาระประชุมกับกระทรวงอุตสาหกรรม 2 เดือน/ครั้ง เพื่อให้สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ-สถาบันรับรองมาตรฐาน (ISO)-ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (ITC) เข้ามามีบทบาทพัฒนา SMEs ให้มีศักยภาพขึ้น จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รัฐเห็นความสำคัญและเกิดกองทุนและมาตรการต่าง ๆ เข้ามาช่วยพัฒนา SMEs โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารธุรกิจ SMEs เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ร้อยละ 10 รวม 10,000 ราย ที่นำร่องในปีแรก รวมไปถึงการปลดล็อกปัญหาการขอใบอนุญาตประทานบัตรสำหรับผู้ประกอบการเหมืองหินที่ล่าช้ามานานด้วย