พาณิชย์ปลุกเอกชนไทยรับ “One Belt One Road” เปิดยุทธศาสตร์ ดันไทยขึ้นผู้นำโลจิสติกส์

พาณิชย์…ปลุกเอกชนไทยดีดตัวรับ ‘One Belt One Road’เปิดยุทธศาสตร์ชี้ธุรกิจเห็นโอกาส ชิงความได้เปรียบช่องทางการค้าและโลจิสติกส์

กระทรวงพาณิชย์ จัดงานสัมมนาปลุกไทยคิดไกลขับเคลื่อน One Belt One Road นำไทยสู่ศูนย์ โลจิสติกส์โลก จุดประกายให้ธุรกิจไทยเห็นทิศทางเติบโตด้วยโครงการคมนาคมยักษ์ใหญ่ระดับโลกของจีน ‘OBOR หรือ เส้นทางสายไหม’ พร้อมเชิญกูรูด้านโลจิสติกส์ของไทยมาให้ความรู้อย่างคับคั่ง กระทรวงฯ มั่นใจหากเอกชนไทยพร้อมรับปรับตัว OBOR จะช่วยเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของประเทศไทยไปสู่ “ผู้นำด้านบริการด้านโลจิสติกส์” ลำดับต้นของภูมิภาคได้ไม่ยาก

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้จัดงานสัมมนา “ปลุกไทยคิดไกลขับเคลื่อน One Belt One Road นำไทยสู่ศูนย์ โลจิสติกส์โลก” ณ ห้องบุรฉัตรไชยากร ชั้น 4 กระทรวงพาณิชย์ ขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักและกระตุ้นธุรกิจไทยโดยเฉพาะด้านบริการโลจิสติกส์ให้ปรับตัวและสามารถสร้างโอกาสทางการตลาดจากนโยบาย “One Belt One Road : OBOR” ของจีนซึ่งจะเชื่อมโยงระบบการขนส่งทั้งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำเข้าด้วยกันทำให้การกระจายสินค้าของแต่ละประเทศภายใต้โครงการนี้สามารถขยายไปสู่ตลาดใหม่ๆ ได้มากขึ้น

“ไฮไลท์ของกิจกรรมในงานนี้ประกอบไปด้วย 2 ด้านคือ 1) การปาฐกถาพิเศษเรื่อง “OBOR กับการพัฒนาเศรษฐกิจไทย” จะเป็นการบรรยายถึงนโยบาย OBOR กับยุทธศาสตร์ของรัฐบาลไทยเชื่อมโยงถึง แนวทางการปรับตัวของภาคธุรกิจไทย ทำให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาเห็นทิศทางในการพัฒนาที่ชัดเจนขึ้น และ 2) การบรรยาย เรื่อง รู้ลึก รู้จริง One Belt One Road และการเสวนาเรื่อง SME ไทยได้ประโยชน์อย่างไรจากการพัฒนา โลจิสติกส์ไทยภายใต้ OBOR โดยได้รับเกียรติจากนักธุรกิจที่เชี่ยวชาญด้านธุรกิจโลจิสติกส์ของประเทศ มาร่วมให้ความรู้ และแบ่งปันประสบการณ์ในการทำธุรกิจ”

“สำหรับ ‘One Belt One Road’ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘เส้นทางสายไหม’ เป็นโครงการที่มีความพิเศษไม่เพียงเฉพาะการลงทุนของประเทศจีนด้วยมูลค่ามหาศาลถึง 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังเป็นการสร้างเส้นทางโลจิสติกส์ขนาดใหญ่ของโลกด้วย โดยเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ทางทะเลระหว่าง 1 ภูมิภาค และ 3 ทวีป คือ อาเซียน เอเชีย แอฟริกา และยุโรป เกี่ยวข้องกับ 64 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมประชากรโลกถึง 4,500 ล้านคน และมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงถึง 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ยังจะเกิดความร่วมมือด้านนโยบายการอำนวยความสะดวกทางการค้าการลงทุน และความร่วมมือด้านการเงิน เป็นอันปฏิเสธไม่ได้ว่า OBOR จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงและสร้างประโยชน์โดยตรงกับธุรกิจบริการโลจิสติกส์ไทยอย่างแน่นอนเพราะไทยมีที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางของอาเซียนอันเป็นยุทธศาสตร์ทางการค้าที่สำคัญทำให้ไทยได้เปรียบในด้านการคมนาคมและกระจายสินค้าไปสู่ประเทศต่างๆ ทั้งในภูมิภาคอาเซียนและทวีปอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับความพร้อมด้านโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานที่มีศักยภาพสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านจึงทำให้ไทยกลายเป็นประตูสู่อาเซียนของจีนได้ไม่ยาก หากแต่ผู้ประกอบธุรกิจจำเป็นจะต้องปรับตัวพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการ การบริหารจัดการธุรกิจและมาตรฐานสากล บุคลากรที่มีคุณภาพ การศึกษากฎหมายของแต่ละประเทศ การลดต้นทุนสินค้า/บริการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นให้ทัน” รมช. กล่าว

สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นคู่ค้าสำคัญกับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน โดยสถิติการค้าจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ (ระหว่างเดือน ม.ค.-พ.ค.60) พบว่ามูลค่าการค้าระหว่างไทยกับจีนอยู่ในลำดับที่ 1 มีมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็นสูงถึง 28,884 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีอัตราการขยายตัวถึง 13.55% อย่างไรก็ดีประเทศไทยมีธุรกิจบริการโลจิสติกส์ที่จดทะเบียนนิติบุคคลอยู่ถึง 21,763 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ม.ค.60) กรมฯ ได้ดำเนินการพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่ภาคธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง และยกระดับธุรกิจให้ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล ISO 9001

นอกจากนี้กรมฯ ยังได้นำธุรกิจไปเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรกับประเทศใน ASEAN+6 พร้อมสำรวจเส้นทางการค้า เพื่อมองเห็นโอกาสในการประกอบธุรกิจ หากธุรกิจจำนวนนี้สามารถปรับตัวให้มีบริการสอดรับกับมาตรฐานสากล เชื่อว่าธุรกิจนี้จะเป็นกำลังสำคัญที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่ ‘ผู้นำด้านบริการโลจิสติกส์’ ลำดับต้นของภูมิภาคได้อย่างไม่ยากและจะไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไป