เปิดไทม์ไลน์ประมูลบงกชเอราวัณ “ศิริ” ชี้เสร็จสิ้นพร้อมลงนามผู้ชนะปี”62

เปิดตารางประมูลบงกช-เอราวัณ “ศิริ จิระพงษ์พันธ์” มั่นใจต้องเสร็จ และลงนามสัญญากับผู้ชนะประมูลในเดือน ก.พ. 62 แม้มีปัญหาใหม่รอแก้ กรณีผู้ชนะประมูลเป็นรายใหม่ ต้องรอให้แหล่งปิโตรเลียมหมดสัญญาจึงเข้าพื้นที่ได้ หวั่นช่วงรอยต่อกระทบต่อกำลังผลิตวูบ

แหล่งข่าวจากกระทรวง พลังงานเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงการเตรียมเปิดประมูลแหล่งบงกช และแหล่งเอราวัณ ที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 2565-2666 ว่า ในการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ นอกเหนือจากประเด็นความล่าช้าของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประมูลยังไม่แล้ว เสร็จ และส่งผลให้ไม่สามารถประกาศเงื่อนไขประมูล (TOR) ได้นั้น ล่าสุดเมื่อพิจารณารายละเอียดทางกฎหมายแล้วพบว่า แม้จะดำเนินการเปิดประมูลให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ แต่ในกรณีที่ผู้ชนะประมูลเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ จะไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่เพื่อสำรวจหรือติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้จนกว่าจะครบอายุสัญญาอย่างเป็นทางการ ซึ่งในกรณีนี้ได้สร้างความกังวลให้กับกระทรวงพลังงาน เพราะอาจส่งผลให้การผลิตจากทั้ง 2 แหล่งหยุดชะงัก และไม่สามารถรักษาระดับการผลิตขั้นต่ำที่ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันได้ โดยเฉพาะในช่วงรอยต่อสำคัญ ที่สำคัญตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียมที่ใช้ในปัจจุบันไม่ได้เปิดช่องให้ผู้ ประกอบการรายใหม่เข้าไปในพื้นที่ก่อนที่แหล่งดังกล่าวจะหมดอายุลงด้วย

นอกจากนี้ยังมีการหารือถึงประเด็นเงื่อนไขการประมูลที่ระบุว่า ต้องรักษาระดับการผลิตไว้ที่ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน (ปริมาณทั้ง 2 แหล่งรวมกัน) ภายใต้ราคาซื้อขายก๊าซที่ไม่สูงกว่าราคาซื้อขายในปัจจุบัน เนื่องจากมีเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมว่า ถ้าข้อกำหนดในเงื่อนไขประมูลกำหนดระดับการผลิตขั้นต่ำไว้แล้ว ก็ไม่ควรกำหนดราคา เพราะการกำหนดเงื่อนไขทั้ง 2 อย่าง ส่งผลให้ผู้ดำเนินการทำได้ “ยาก” และ “ไม่เป็นธรรม” เพราะนอกจากต้องลงทุนเพิ่มเพื่อรักษาระดับการผลิตแล้ว ยังต้องถูกควบคุมราคาอีก ซึ่งในแง่ของการดำเนินการถือว่า “เป็นไปไม่ได้” โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงยืนในระดับต่ำ ยิ่งไม่คุ้มค่าการลงทุน ทั้งนี้ ในประเด็นราคาก๊าซยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจน แต่หารือใน 2 แนวทาง คือ กำหนดราคาให้ไม่สูงกว่าราคาที่ซื้อขายในปัจจุบัน หรือจะใช้ราคาอ้างอิงจากราคาก๊าซเฉลี่ยในอ่าวไทย

“ยกเว้นว่าผู้ชนะ ประมูลเป็นรายเดิมก็ไม่ต้องกังวลในประเด็นเข้าพื้นที่ ก็ผลิตต่อเนื่องไปเลย การประมูลครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ไทยใช้รูปแบบแบ่งปันผลประโยชน์ หรือ PSC พอลงลึก

ในรายละเอียดก็จะเห็นปัญหา ก็ต้องแก้ไขไปทีละประเด็นและหน่วยงานเกี่ยวข้องก็ให้ความเห็น พร้อมทั้งแนวทางการแก้ไข เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่สนใจ เข้ามาร่วมประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณ”

ด้าน ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในกรณีที่ผู้ชนะประมูลเป็นรายใหม่ไม่สามารถเข้าพื้นที่ทั้ง 2 แหล่ง เพื่อสำรวจพื้นที่หรือติดตั้งอุปกรณ์ได้ทันทีที่ชนะประมูลได้นั้น อยู่ในระหว่างให้หน่วยงานเกี่ยวข้องไปศึกษาและพิจารณาแนวทางรองรับเบื้องต้น ทั้งนี้ มองว่าแนวทางที่มีความเป็นไปได้ คือ อาจจะใช้วิธีเจรจากับผู้รับสัมปทานรายเดิมคือ ทั้งบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ผู้รับสัมปทานแหล่งบงกช และบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ผู้รับสัมปทานแหล่งเอราวัณ เพื่อหาทางแก้ไขร่วมกัน

ทั้งนี้ การเปิดประมูลทั้ง 2 แหล่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการ จึงเริ่มกำหนดกรอบเวลาทำงานไว้เบื้องต้น โดยคาดว่ารายละเอียดของเงื่อนไขการประมูลที่อยู่ในระหว่างดำเนินการจะได้ข้อ สรุปภายในต้นเดือนมีนาคมนี้ โดยการประมูลจะแบ่งออกเป็น 2 สัญญา และจะดำเนินการเปิดประมูลพร้อม ๆ กัน หลังจากนั้นจึงจะประกาศเงื่อนไขการประมูลและใช้เวลาในการพิจารณาข้อเสนอของ ผู้ประกอบการที่ยื่นประมูลรวม 6-7 เดือน และเป้าหมายของกระทรวงพลังงาน คือ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะสามารถลงนามสัญญาได้

“บางประเด็นที่เป็นปัญหา เราพยายามก้าวข้ามไปให้ได้ และที่สำคัญ หน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องช่วยกัน เพื่อให้เปิดประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณได้สำเร็จตามกรอบเวลาที่วางไว้ ซึ่งจะ


ทำให้ประเทศมีความมั่นคงทางพลังงาน เพราะทั้ง 2 แหล่งเป็นแหล่งก๊าซสำคัญ คิดเป็น 70% ของปริมาณการผลิตทั้งหมดในพื้นที่อ่าวไทย”