“ศิริ” งัดแผนตั้งรับไฟฟ้าใต้เสี่ยง ขยายสายส่ง-เพิ่มชีวมวล 300MW

“ศิริ” ผ่าทางตันโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่อืด 3 ปี ชงใช้ ม.44 ให้ กฟผ.ชิงเวนคืนที่ดินขยายสายส่งโรงไฟฟ้าจะนะ-ขนอม อีก 500 เควี พร้อมเร่งลงทุนขึ้นโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่ม 300 เมกะวัตต์

ฝ่าความมืดกระตุกเศรษฐกิจ 3 จังหวัดชายแดนใต้

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า ขณะนี้เตรียมวาระที่จะเสนอเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแนวทางในการแก้ปัญหาการใช้พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ 3 แนวทางคือ 1) เพิ่มจำนวนและขนาดของสายส่งแรงดันสูงเพื่อเชื่อมโรงไฟฟ้าหลักที่มีอยู่ใน ปัจจุบัน และส่งตรงไปในพื้นที่ฝั่งอันดามัน และเชื่อมกับสายส่งหลักจากภาคกลาง 2) พัฒนาระบบสายส่งและโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อประสิทธิภาพเพียงพอต่อความต้องการใช้ในพื้นที่

และ 3) การใช้มาตรการความร่วมมือลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้า สูงสุด หรือ demand response ที่จะใช้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ภาครัฐจะจูงใจผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมมาตรการนี้ด้วยส่วนลดค่าไฟฟ้า

ทั้งนี้ ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันโรงไฟฟ้าจะนะ ที่มีกำลังผลิตติดตั้ง 1,476 เมกะวัตต์ ไม่สามารถเดินเครื่องได้เต็มที่ เนื่องจากข้อจำกัดของสายส่งที่ไม่รองรับ ทำให้เกิดคอขวดขึ้นในการส่งไฟฟ้าไปยังผู้ใช้ในจังหวัดภูเก็ตและ นครศรีธรรมราช

ดังนั้น ก.พลังงานจึงเห็นว่าควรมีการพัฒนาสายส่งเพื่อเชื่อมสายส่งจากภาคกลางตรงไป ยังจังหวัดสุราษฎร์ธานี และเพิ่มขนาดสายส่งจากเดิมที่ 330 เควีเพิ่มเป็น 500 เควี รวมทั้งสร้างสายส่งจากโรงไฟฟ้าขนอมมายังจังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อเพิ่มการ ผลิตของโรงไฟฟ้าขนอมให้เต็มที่เช่นกัน

“กฟผ.ยังคงมีข้อกังวลเรื่อง การปักเสาพาดสายเพื่อขยายสายส่งที่ค่อนข้างล่าช้า เนื่องจากต้องเวนคืนหรือรอนสิทธิ์ต้องใช้เวลาในการพิจารณาจากหน่วยงานที่ เกี่ยวข้อง ขณะนี้ กฟผ.เตรียมนำเสนอต่อ ครม.ให้ใช้มาตรา 44 เพื่อให้ กฟผ.เข้าไปดำเนินการวางสายส่งได้ทันที” รมว.พลังงานกล่าว

นอกจากนี้ยังเห็นว่าควรมีการพัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวลขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพราะศักยภาพด้านเชื้อเพลิงคือ เศษไม้หรือไม้ยางพารา สามารถพัฒนาได้ 200-300 เมกะวัตต์ ซึ่งหากทั้ง 3 จังหวัดพัฒนาโรงไฟฟ้าในพื้นที่ของตัวเองได้แล้ว ยังจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่อีกด้วย สิ่งที่ ก.พลังงานให้ความสำคัญคือ อัตราค่าไฟฟ้าจะต้องไม่สูงกว่าราคาที่มีการซื้อขายในปัจจุบัน

“เหล่านี้คือเรื่องความมั่นคงทางพลังงานของภาคใต้ในอีก 5 ปีข้างหน้า เมื่อเรามีวิธีรองรับแล้ว ได้ทบทวนว่า ในพื้นที่ภาคใต้มีความเหมาะสมที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ และอาจไม่มีความจำเป็นที่จะสร้างในพื้นที่ภาคใต้ก็ได้”

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ก.พลังงาน ได้หารือกับ กฟผ. สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตัวแทนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) และตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรม เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวล พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งนี้มีการนำเสนอให้ใช้โมเดล “โรงไฟฟ้าที่ชุมชนเป็นเจ้าของ” กำลังผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์/โครงการ

โดย กกพ.อาจจะใช้วิธีให้ภาคเอกชนที่มีความสนใจลงทุนตกลงกับชุมชนในพื้นที่เป้า หมายที่ต้องการพัฒนาโรงไฟฟ้า หลังจากนั้นดำเนินการขอสัญญาซื้อขายไฟฟ้า หรือ PPA เพื่อนำไปขอกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และอาจจะมีการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อบริหารในช่วงเริ่มต้นโครงการ และเมื่อถึงจุดคุ้มทุนก็โอนโครงการทั้งหมดให้กับชุมชนในพื้นที่ แต่ชุมชนก็อาจจะจ้างเอกชนต่อได้ นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้มีการพัฒนาโรงไฟฟ้าประชารัฐ ในรูปแบบโซลาร์รูฟท็อปหมู่บ้านอีกด้วย

รายงานข่าวจากการไฟฟ้าฝ่าย ผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุถึงกำลังผลิตในพื้นที่ภาคใต้ในปัจจุบันมีกำลังผลิตจริงอยู่ที่ 2,624 เมกะวัตต์ (จากกำลังผลิตติดตั้ง 2,788 เมกะวัตต์) แบ่งเป็นจากโรงไฟฟ้าจะนะ และโรงไฟฟ้าขนอม รวมกำลังผลิต 2,024 เมกะวัตต์


ส่วนที่เหลือมาจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ (เขื่อน) 108 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าชีวมวล 29 เมกะวัตต์ และส่งผ่านสายส่งจากภาคกลางลงไปรวม 460 เมกะวัตต์ ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือ peak อยู่ที่ 2,624 เมกะวัตต์ และยังมีการคาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ยังคงมีแนวโน้มขยายตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 ต่อปีอีกด้วย ตามข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าและกำลังผลิตติดตั้งรวมไม่ แตกต่างกันมากนัก นั่นเท่ากับว่าภาคใต้ยังคงอยู่ในภาวะไฟฟ้าตกและดับได้ หากว่าไม่มีการดำเนินการใด ๆ เพื่อมารองรับ ในช่วงที่ไม่มีกำลังผลิตใหม่เข้ามาเพิ่มเติม