พาณิชย์เปิดแผนรับมือ พืชสามหัว ปี 2566 ผ่าน อมก๋อย โมเดล

พาณิชย์เปิดแผนรับมือ พืชสามหัว ปี 2566 ผ่าน อมก๋อย โมเดล

กระทรวงพาณิชย์ เปิดแผนรับมือ “พืชสามหัว” ปี 2566 ซื้อล่วงหน้า 2.28 หมื่นตัน ผ่าน“อมก๋อย โมเดล” ผลพวงจากนโยบาย “ตลาดนำการผลิต”

วันที่ 28 มกราคม 2566 นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า โครงการ อมก๋อย โมเดล ริเริ่มโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พาณิชย์ ทำให้ “พืชสามหัว” ซึ่งประกอบด้วย หองแดง กระเทียมและหอมหัวใหญ่ และการขับเคลื่อนของกรมการค้าภายใน ภายใต้หัวเรือใหญ่ นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ที่สนองนโยบายทำงานแบบมุ่งเป้าเกษตรกรกลับมามีรอยยิ้มในการปลูกหอมและกระเทียม หลังผลผลิตราคาดีและมีตลาดรองรับชัดเจน

จากจุดเริ่มต้น“อมก๋อย โมเดล”นโยบายที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำในสินค้า 4 กลุ่มและหนึ่งในนั้นคือพืชสามหัว โดยเริ่มจากการนำผู้ประกอบการเดินทางไปรับซื้อถึงแหล่งผลิตจากกลุ่มเกษตรกรโดยตรง พร้อมทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้าในราคานำตลาด

จากนั้นมีการดำเนินมาอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยกรมการค้าภายใน นับตั้งแต่นโยบายอมก๋อยโมเดลเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2563 ผลจากการขับเคลื่อนทำงานแบบมุ่งเป้าของอธิบดีจึงเริ่มเห็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมขึ้นในวันนี้

“เมื่อก่อนแค่ลงนามเอ็มโอยู (MOU) ถ่ายภาพแล้วก็จบ ตอนนี้ไม่ใช่มันต้องเซตเลยผู้ประกอบการที่ร่วมกับเราต้องซื้อในราคานี้ รายใดมีปัญหาตลาดมีไม่พอ กรมก็จะช่วยจัดหาตลาดปลายทางให้เพิ่ม เช่น ร้านอาหารธงฟ้า ร้านค้าธงฟ้า ปั้มน้ำมัน รถโมบายพาณิชย์ ห้างท้องถิ่น พวกนี้เป็นเอ้าเล็ตของเรา แต่คุณต้องซื้อผลผลิตในราคานำตลาด มันก็จะวิน ๆ ทุกฝ่าย ผู้ประกอบการได้ตลาดเพิ่ม เกษตรกรก็ขายได้ราคา”

นายกรนิจ กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบราคาพืชสามหัวปีนี้ (2566) เมื่อเทียบกับปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน พบว่า ณ เวลานี้ราคาปรับเพิ่มขึ้นทุกตัว โดยปีที่แล้ว (2565) หอมหัวใหญ่ราคาอยู่ที่ 12 บาท/กิโลกรัม ปีนี้เพิ่มเป็น 16 บาท/กิโลกรัม ส่วนหอมแดง 9 บาท/กิโลกรัมเพิ่มเป็น 13 บาท/กิโลกรัม และกระเทียมปีที่แล้ว 13 บาท/กิโลกรัม ปีนี้เพิ่มเป็น 14.5-15.0 บาท/กิโลกรัมซึ่งราคาปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20-30%

“ช่วงนี้อยู่ในต้นฤดูกาลราคายังสูง แต่เพื่อความมั่นใจในเรื่องราคาช่วงผลผลิตออกชุก 3 เดือนจากนี้ไปคือกุมภาพันธ์ มีนาคมและเมษายน เราจำเป็นต้องเข้าไปซื้อผลผลิตล่วงหน้า ซึ่งในปี 66 คาดว่าผลผลิตจะมีประมาณ 257,135 ตัน โดยใช้มาตรการอมก๋อยโมเดล ซึ่งปีที่แล้ว (2565) เราทำไปประมาณ 9,000 ตันส่วนปีนี้ (2566) จะทำเพิ่มเป็น 22,800 ตัน โดยแบ่งเป็นหอมหัวใหญ่ 7,300 ตัน หอมแดง 7,500 ตันและกระเทียม 8,000 ตัน”

อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์ของกรมการค้าภายในปริมาณผลผลิตพืชสามหัวในปี 2566 นี้ จะมีปริมาณ 257,135 ตัน เพิ่มขึ้นประมาณ 5-10% เมื่อเทียบกับผลผลิตปีที่แล้ว(2565) อยู่ที่ 233,808 ตัน โดยแบ่งเป็นหอมหัวใหญ่ 36,479 ตัน หอมแดง 155,765 ตันและกระเทียม 64,891 ตัน โดยแหล่งเพาะปลูกใหญ่อยู่ในพื้นที่ทางภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา ลำปางแม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์และภาคอีสานบางจังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ ซึ่งแหล่งปลูกหอมแดงคุณภาพระดับจีไอ (GI)

นายกรนิจ กล่าวถึงมาตรการบริหารจัดการพืชสามหัวอีกว่า นอกจากให้เป็นไปตามกลไกตลาดปกติแล้วในส่วนของกระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายในก็จะเข้าไปดูแล ทั้งการจัดการผลผลิตในประเทศและมาตรการทางกฎหมายควบคู่กันไป โดยการจัดการผลผลิตในประเทศนั้น ประกอบด้วย 1.การกระจายออกนอกพื้นที่จากแหล่งผลิตและการเพิ่มช่องทางการกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภคโดยตรง 2.การเก็บสต๊อก 3.อมก๋อยโมเดล 4.รถเร่หรือโมบายพาณิชย์ และ 5.สถานบริการน้ำมัน ได้แก่ ปตท. บางจาก พีที และเชลล์

ส่วนมาตรการทางกฎหมายจะดำเนินการกับผู้กระทำผิดในอัตราโทษสูงสุด เนื่องจากพืชสามหัวบางตัวเป็นสินค้าควบคุม ขนย้ายต้องแจ้งปริมาณ สถานที่เก็บ แสดงราคารับซื้อและจำหน่ายปลีกอย่างชัดเจนพร้อมตรวจสอบสำแดงราคานำเข้า(เทียบกับราคาจำหน่ายกระเทียมในจีน) ตลอดจนการสกัดกั้นการลักลอบนำเข้าโดยร่วมกับฝ่ายความมั่นคง กอ.รมน. ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ในการจับกุมดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในอัตราโทษสูงสุด จำคุก 5 ปีปรับ1 แสนหรือทั้งจำทั้งปรับ

“ปีที่แล้วจับกุมผู้กระทำผิดได้ 12 ราย เป็นการขนย้ายไม่ตรงตามหนังสืออนุญาต 9 รายและไม่มีหนังสืออนุญาตขนย้าย 3 ราย หากพบเบาะแสการกระทำผิดโทรแจ้ง 1569 กรมการค้าภายในครับ”