ทุนฝรั่งเศส AFYREN มิตรผล ผุดโรงงานผลิตสารอินทรีย์ชีวภาพต่อยอดน้ำตาล

AFYREN ปักหมุดไทยจัดตั้งโรงงานแห่งที่สอง

ทุนฝรั่งเศส AFYREN จับมือกลุ่มมิตรผล ปักหมุดไทยจัดตั้งโรงงานผลิตสารอินทรีย์ชีวภาพ ต่อยอดผู้นำอุตสาหกรรมน้ำตาลระดับโลก คาดก่อสร้างแล้วเสร็จปี’68 ตั้งเป้าหมายรายได้ 60 ล้านยูโรต่อปี

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการบริษัทและประธานกรรมการบริหาร กลุ่มมิตรผล  นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และนายออลีวีเย แบชต์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศ สาธารณรัฐฝรั่งเศส ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงนายวีระเจตน์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจน้ำตาลประเทศไทย พลังงาน และธุรกิจใหม่ กลุ่มมิตรผล ลงนามร่วมกับนายนิโคลา ซอร์เด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AFYREN เพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตสารอินทรีย์ชีวภาพแห่งที่สองในประเทศไทย

ภายในพื้นที่โรงงานของกลุ่มมิตรผล ซึ่งอยู่ใกล้กับกรุงเทพมหานคร มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 28,000 ตันต่อปี และคาดว่าจะสร้างรายได้กว่า 60 ล้านยูโรต่อปี   ซึ่งทางกลุ่มมิตรผลจะนำชีวมวลที่มีคุณภาพสูงจากกระบวนการผลิตอ้อยและน้ำตาลมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ไบโอเบสและผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ เพื่อต่อยอดสู่การผลิตสารอินทรีย์ชีวภาพ และจะนำเทคโนโลยีและประสบการณ์การบริหารโรงงานแห่งแรก AFYREN NEOXY ที่เปิดดำเนินการแล้วมาปรับใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

โดยโรงงานนี้จะมีกำลังการผลิต 16,000 ตันต่อปี ทั้งนี้ คาดว่าโรงงานแห่งใหม่นี้ จะสามารถเริ่มผลิตได้ภายในปี 2568

นายซอร์เดกล่าวว่า การจัดตั้งโรงงานแห่งที่สองในศูนย์กลางภูมิภาคเอเชีย นับเป็นก้าวสำคัญในการวางรากฐานและพัฒนาธุรกิจของ AFYREN เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่ดียิ่งขึ้น ความร่วมมือกับกลุ่มมิตรผลในครั้งนี้จะช่วยให้ AFYREN สามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบที่มีความยั่งยืนจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลได้ในระยะยาว ขณะเดียวกัน กลุ่มมิตรผลยังเป็นองค์กรที่มุ่งให้ความสำคัญกับการดำเนินงาน เพื่อความยั่งยืนมาโดยตลอด เราจึงมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะได้ร่วมงานกับกลุ่มมิตรผล พร้อมร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคนี้ให้เติบโตยิ่งขึ้นต่อไป

นายวีระเจตน์กล่าวว่า ความร่วมมือกับ AFYREN ในครั้งนี้ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของกลุ่มมิตรผลที่มีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนองค์กรสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยโครงการจะช่วยผลักดันให้เกิดการต่อยอด ยกระดับประสิทธิภาพการผลิตด้วยการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนและแนวคิดเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ไร้ค่าให้เป็นสิ่งที่มีคุณค่า (From Waste to Value Creation) พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มให้วัตถุดิบ เพื่อต่อยอดอ้อยและน้ำตาลสู่ผลิตภัณฑ์
ไบโอเบสที่มูลค่าสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โครงการดังกล่าวนับเป็นครั้งแรกของ AFYREN ในการขยายธุรกิจในต่างประเทศ สอดคล้องตามแผนการดำเนินงานตามที่ระบุในการเสนอขายหุ้น (IPO) หลังจากการก่อตั้งโรงงานแห่งแรกในประเทศฝรั่งเศส และเป็นกลยุทธ์หลักเพื่อรองรับการเติบโตของตลาดในภูมิภาคเอเชีย ด้วยการประยุกต์ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีของ AFYREN กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของกลุ่มมิตรผล ผ่านการร่วมทุนในรูปแบบ 70:30 โดยมี AFYREN เป็นผู้ถือหุ้นหลัก และกลุ่มมิตรผลเป็นผู้ถือหุ้นรอง ซึ่งจะนำชีวมวลที่เหลือใช้ในภาคเกษตรของกลุ่มมิตรผลมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ไบโอเบสและผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ ด้วยเป้าหมายกำลังการผลิตที่ 28,000 ตันต่อปี

ทั้งนี้ ความร่วมมือนี้เลือกจัดตั้งโรงงานอยู่ใกล้เมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร เพื่อให้สามารถรองรับลูกค้าทั้งในประเทศและนานาประเทศ ทั้งไทยยังเปรียบเสมือนศูนย์กลางของตลาดอาเซียน เป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกด้วย สำหรับสารอินทรีย์ชีวภาพนี้จะสามารถนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิด เพื่อประโยชน์ในการถนอมอาหารและการแต่งกลิ่น-รสธรรมชาติ รวมถึงเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และเป็นทางเลือกจากธรรมชาติ เพื่อทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะ

โดยข้อตกลงเชิงกลยุทธ์สำหรับทั้งสององค์กร ข้อตกลงเบื้องต้นระหว่าง AFRYREN และกลุ่มมิตรผล ได้นำไปสู่การสร้างโรงงานผลิตสารอินทรีย์ชีวภาพแห่งที่สองของกลุ่มบริษัท AFYREN ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์การพัฒนาธุรกิจของ AFYREN คือ “การสร้างและลงมือทำ” ที่มีเป้าหมายในการตั้งฐานการผลิตให้อยู่ใกล้กับแหล่งวัตถุดิบและตลาดของกลุ่มลูกค้าให้มากที่สุด ทั้งนี้ คาดว่าข้อตกลงดังกล่าวจะสามารถสรุปได้อย่างเป็นทางการในช่วงกลางปี 2566

และที่สำคัญโครงการนี้ช่วยสร้างอาชีพโดยตรงกว่า 80 ตำแหน่ง และการจ้างงานทางอ้อมอีกกว่า 280 ตำแหน่ง ในการดำเนินการผลิต โดยจะใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญที่สั่งสมจากการดำเนินงานของทั้งสอง รวมถึงจัดหา ฝึกอบรม และพัฒนาทักษะให้พนักงานของโรงงานในอนาคต

โครงการมีการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการออกแบบให้พื้นที่ตั้งของโรงงาน สามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบได้โดยตรง นับเป็นการช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นจากการขนส่งได้เป็นอย่างมาก อีกทั้งกระบวนการผลิตของ AFYREN เป็นการนำวัตถุดิบมาหมุนเวียนใช้ให้เกิดประโยชน์

นอกจากนี้ โรงงานยังได้รับการออกแบบให้มีการใช้พลังงานไฟฟ้าชีวมวลและไอน้ำที่มีคาร์บอนต่ำของกลุ่มมิตรผล ซึ่งสนับสนุนหลักการดำเนินงานแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยกระบวนการผลิตของโรงงาน ยังคงยึดหลักการเดียวกันกับโรงงานแห่งแรกของ AFYREN คือไม่มีการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างสิ้นเปลือง และจะนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตมาใช้เป็นปุ๋ยเพื่อการเกษตรต่อไป