กัมพูชาพบจุดความร้อน 1.7 พันจุด แซงไทย พบสูงสุดที่ชัยภูมิ 133 จุด

ป่า ภูเขา ภาคเหนือ สภาพอากาศ หน้าแล้ง
ภาพโดยประชาชาติธุรกิจ

GISTDA เผย กัมพูชาแซงไทย พบจุดความร้อนสูงกว่า 1.7 พันจุด ไทยพบ 1.2 พันจุด ชัยภูมิ 133 จุด นำลิ่ว

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของระบบเวียร์ (VIIRS) ไทยพบจุดความร้อนวานนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2566) จำนวน 1,208 จุด ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างราชอาณาจักรกัมพูชาพบจุดความร้อน จำนวน 1,713 จุด ตามด้วยสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา 1,072 จุด สปป.ลาว 927 จุด เวียดนาม 522 จุด และมาเลเซีย 4 จุด

สำหรับจุดความร้อนในประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่เกษตร 294 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 293 จุด พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 273 จุด พื้นที่เขต ส.ป.ก. 204 จุด พื้นที่ชุมชนและอื่น ๆ 127 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 17 จุด ส่วนจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด คือ #ชัยภูมิ 133 จุด #กาญจนบุรี 128 จุด และ #ลพบุรี 50 จุด ตามลำดับ

จากภาพแสดงให้เห็นว่าจุดความร้อนยังคงกระจายตัวอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ (ยกเว้นทางใต้) คาดว่าน่าจะเกิดจากการเตรียมพื้นที่เพื่อการเกษตร หรือการเข้าไปหาของป่า เนื่องจากพื้นที่ที่พบจุดความร้อนมากที่สุดคือพื้นที่เกษตร และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ

ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลจุดความร้อนตั้งแต่ 1 มกราคม-1 กุมภาพันธ์ 2566 พบว่า ภาคเหนือมีจุดความร้อนแล้วจำนวน 6,076 จุด ตามด้วยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3,800  จุด และภาคตะวันออก 1,105 จุด ตามลำดับ

สิ่งหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังที่มักจะมากับเหตุการณ์ไฟป่าและจุดความร้อนคือ PM 2.5 สถานการณ์การจุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลให้เกิด PM 2.5 ได้ในพื้นที่บริเวณชายแดนเนื่องจากได้รับอิทธิพจากประแสลมที่จะพัดผ่านเข้ามา ปัญหาไฟป่าหมอกควัน ส่งผลกระทบให้กับระบบต่าง ๆ ของประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม

ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยกำลังจะได้ใช้ระบบ THEOS-2 อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่ง 1 ในภารกิจสำคัญของระบบนี้ คือการสำรวจ วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น ได้อย่างทันท่วงทีและแม่นยำ เพื่อการสนับสนุนข้อมูลสำคัญให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปใช้วางแผน ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดข้อมูลเฉพาะพื้นที่ท่านสามารถติดตามจากหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโดยตรงได้ GISTDA ยังคงติดตามและรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้บริหารจัดการในพื้นที่ ท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://fire.gistda.or.th


GISTDA