เดินหน้าสัญญาจ้างเลขาแข่งขันฯ ไม่รอผลกรรมาธิการ ป.ป.ช.

เซ็นสัญญา

หลังจากประกาศผลการคัดเลือกเลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 ว่า “นายวิษณุ วงศ์สินศิริกุล” เฉือนเอาชนะผู้เข้าร่วมแข่งขันอีก 5 คน ซึ่งประกอบด้วย นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต, พ.ต.ประทีป เจริญกัลป์, นายวิตถวิล สุนทรขจิต, พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล และ น.ส.ลัดดา แซ่ลี้

นำมาสู่การยื่นคำร้องต่อคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. ของ “นายพงศ์พันธ์ ยอดเมืองเจริญ” ผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกลที่ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ากรณีดังกล่าวอาจมีการปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่เป็นธรรมเมื่อ 31 ม.ค. 2566

ย้อนกลับไปถึงกระบวนการคัดเลือกเลขาธิการ พบว่า คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าได้ออกหนังสือประกาศรับสมัครบุคคลเข้าคัดเลือกเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 65 ซึ่งหลักเกณฑ์นั้นถูกกำหนดโดยคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า 6 คนจากทั้งหมด 7 คน ยกเว้น “นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์” เลขาธิการได้ยื่นลาออกเพื่อรอเข้ารับการแต่งตั้งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าพอดี

เป็นที่น่าสังเกตว่า คณะกรรมการ 6 คน พิจารณา “ปรับลด” เกณฑ์คุณสมบัติเกี่ยวกับประสบการณ์ทำงานในส่วนประสบการณ์ผู้บริหารของภาคเอกชนลง จาก 10 ปี เหลือ 5 ปี และในเวลาต่อมาก็ผู้สมัครที่มีประสบการณ์ทำงานด้านเอกชนมีเพียง 1 คนเท่านั้น

หลักเกณฑ์การพิจารณามีคะแนนเอกสาร 30% และคะแนนจากการสัมภาษณ์ 70% โดยให้ทุกคนมาสัมภาษณ์พร้อมกัน ให้เวลาคนละ 15 นาที

ซึ่งในรอบสัมภาษณ์นี้มีคณะกรรมการทั้งหมด 7 คน (รวมนายสมศักดิ์ที่กลับเข้ามารับตำแหน่งกรรมการการแข่งขันฯแล้ว) ได้ร่วมสัมภาษณ์ จนเหลือผู้สมัครเพียง 1 คน คือ “นายวิษณุ” จึงไม่ต้องมีการพิจารณารอบ 3 ที่กำหนดต้องนำรายชื่อไปเสนอบอร์ดพิจารณาอีกครั้ง เท่ากับชนะไปโดยอัตโนมัติ

แต่ในการพิจารณาครั้งนี้กรรมการ อย่างน้อย 2 คนจาก 7 คน ที่พิจารณาให้มีผู้ผ่านรอบสัมภาษณ์มากกว่า 1 คน

“เชื่อว่าคณะกรรมการให้ผู้ผ่านนั้นมากกว่า 1 คน เพราะดูแต่ละคนที่มาสมัครมีคุณสมบัติ ประวัติ ประสบการณ์ที่ดี แต่เมื่อผลสัมภาษณ์ออกมาแล้วเหลือ 1 คน คณะกรรมการแข่งขันจึงไม่ได้มีการหารือพูดคุยอะไรถือว่าจบแล้ว เขาชนะไปไม่มีคู่แข่ง นี่คือประเด็นที่มีความแปลกใจบ้าง”แหล่งข่าวกล่าว

ซึ่งหากพิจารณาถึงคุณสมบัติของผู้ชนะครั้งนี้ เป็นไปตามข้อมูลที่ “นายพงษ์พันธ์” ร้องต่อ กมธ.ป.ป.ช. คือ แม้ว่าผู้ชนะจะมีประสบการณ์เคยผ่านงานเอกชนมาเป็นเวลา 5 ปี (ตามคุณสมบัติใหม่ที่ผ่อนลง) แต่ประสบการณ์ที่ระบุ ก็เป็นกรรมการอิสระของบริษัทมหาชน

ซึ่งตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ให้ข้อเท็จจริงว่า กรรมการอิสระจะไม่มีอำนาจหน้าที่บริหารเป็นตัวแทนผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ประชุมเดือนละ 4 ครั้งเท่านั้น

และในระหว่างที่ฝุ่นตลบว่าจะมีการเซ็นสัญญานั้น ก็เป็นจังหวะเดียวกับที่ “ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา” ประธานบอร์ดแข่งขันทางการค้า “ยื่นลาออกจากการเป็นประธาน” และกรรมการ 4 คนก็หมดวาระ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปการแต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่ เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเร็ว ๆ นี้

“ช่วงภาวะสุญญากาศ” นี้ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าชุดเดิม อยู่ระหว่างต้องตัดสินใจว่า จะลงนามสัญญาจ้าง “นายวิษณุ” หรือไม่ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะ “เดินหน้าเซ็นสัญญาจ้าง” เพราะ 1) ต้องการเดินหน้างานของสำนักงานแข่งขัน และ 2) กมธ.ป.ป.ช.ยังไม่ตัดสิน ดังนั้น ผลการพิจารณาให้นายวิษณุชนะการคัดเลือกก็ยังคงอยู่ตามหลักการทางกฎหมาย

แต่หากเซ็นสัญญาจ้างไปแล้ว ทาง กมธ.ป.ป.ช.มีผลสรุปออกมาว่า การคัดเลือกไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมทำให้สถานะการดำรงตำแหน่งเลขาธิการสิ้นสุดทันที แต่ก็จะไม่มีผลย้อนหลังไปถึงงานที่ได้ดำเนินการระหว่างรับตำแหน่ง เช่นเดียวกับคดีสำคัญ ๆ ถือเป็นคนละส่วน ก็จะไม่ได้รับผลกระทบ