จับตาอำนาจ “LINE” เหนือตลาด บอร์ดแข่งขันเล็ง “พฤติกรรมบีบคู่สัญญา”

Line

บอร์ดแข่งขันฯ จับตาเคส LINE ใช้อำนาจเหนือตลาดกระทำกับคู่สัญญา เทียบเคียงโมเดลออสเตรเลีย หลังสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ออกแถลงการณ์เตือน LINE TODAY ห้ามนำข่าวของสมาชิกไปเผยแพร่ในแพลตฟอร์มอื่น ส่อเค้าผิดสัญญา-ละเมิดลิขสิทธิ์อย่างร้ายแรง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า หลังจากสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ได้ออกหนังสือเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 เพื่อเตือน LINE TODAY ห้ามนำข่าวของสมาชิกไปเผยแพร่ในแพลตฟอร์มอื่น โดยสาระสำคัญของหนังสือระบุว่า

ตามที่บริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่น LINE ได้ทำสัญญาต่างตอบแทนกับสำนักข่าวที่เป็นสมาชิกของสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์หลายแห่ง ในการนำข่าวที่ผลิตโดยสำนักข่าวไปเผยแพร่บนแพลตฟอร์ม LINE ในส่วน LINE TODAY และเว็บไซต์ LINE TODAY โดยมีการแบ่งรายได้จากการโฆษณาระหว่างกันนั้น

จากการตรวจสอบของสำนักข่าวที่เป็นสมาชิกของสมาคมพบว่า LINE ได้มีการนำข่าวของสำนักข่าวผู้ผลิตไปเผยแพร่ในแพลตฟอร์มอื่น เช่น Google หรือ Google News ทั้ง ๆ ที่มีการระบุในสัญญาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจนว่า อนุญาตให้นำไปเผยแพร่ในแพลตฟอร์ม LINE TODAY ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มของ LINE เท่านั้น ไม่อนุญาตให้ LINE นำข่าวไปลงในแพลตฟอร์มอื่นจึงนับเป็นการกระทำที่ผิดสัญญาและละเมิดลิขสิทธิ์อย่างร้ายแรง

ด้วยเหตุนี้ สมาคมจึงจะดำเนินการยื่นหนังสือเตือนไปยัง บริษัท ไลน์ฯ ให้ยุติการกระทำดังกล่าวโดยทันที เพราะถือเป็นการดำเนินธุรกิจที่ตั้งใจเอาเปรียบ ไม่เป็นธรรม และจงใจละเมิดลิขสิทธิ์

ทั้งนี้ หาก LINE ยังไม่ยุติการดำเนินการในลักษณะดังกล่าว สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์จะดำเนินการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาด พร้อมกับยื่นเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ตรวจสอบการใช้อำนาจเหนือตลาดของ LINE ในกรณีอื่น ๆ และฟ้องร้องกรณีการผิดสัญญาต่อไป

ล่าสุด ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา กรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 นี้ จะมีการติดตามข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการของไลน์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างให้เจ้าหน้าที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการ

ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา
ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา

หากสมาคมผู้ผลิตข่าวฯมีข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการดำเนินการดังกล่าวสามารถส่งให้ กขค. ใช้ประกอบการพิจารณาได้

“ให้ทางสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า รวบรวมข้อมูล อาจจะมีการพิจารณาเป็นวาระใหญ่ เพราะเท่าที่ทราบมีข้อมูลค่อนข้างชัดเจน ทั้งยังได้ทำการเปรียบเทียบกับกรณีคล้ายกันนี้ที่เคยเกิดขึ้นที่ประเทศออสเตรเลียไว้เทียบเคียง การพิจารณาเรื่องนี้จะเป็นตัวอย่างต่อไปในอนาคต”

รายงานข่าวระบุว่า พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 กำหนดนิยามผู้มีอำนาจเหนือตลาด แบ่งลักษณะการพิจารณา เป็น 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 ผู้ประกอบธุรกิจรายเดียว มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาของ สินค้าหรือบริการหนึ่งตั้งแต่ 50% ขึ้นไป และมียอดขายในปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป

และกรณีที่ 2 ผู้ประกอบธุรกิจ 3 รายแรกของตลาดสินค้าหรือบริการหนึ่ง มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมารวมกัน 75% และมียอดเงินภายในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป แต่ถ้ามีผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่งมีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ผ่านมาไม่ถึง 10% ก็จะได้รับการยกเว้น ไม่เข้าเกณฑ์การเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด

ทั้งนี้ การเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดไม่ได้มีความผิด ยกเว้นหากใช้อำนาจเหนือตลาดในการกระทำพฤติกรรมใด ๆ ที่ผิดกฎหมาย สำหรับพฤติกรรมต้องห้ามของผู้มีอำนาจเหนือตลาดคือ 1.กำหนดหรือรักษาระดับราคาซื้อหรือราคาขายหรือค่าบริการไม่เป็นธรรม

2.กำหนดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมให้คู่ค้าของตนต้องจำกัด การบริการ การผลิต การซื้อ หรือการขายสินค้า หรือจำกัดโอกาสในการเลือกซื้อสินค้า การได้รับหรือให้บริการ หรือในการจัดหาสินเชื่อจากผู้ประกอบธุรกิจอื่น เช่น กำหนดเงื่อนไขให้คู่ค้าที่เป็นการจำกัดการบริการ การผลิต การซื้อหรือการขายสินค้าของคู่ค้า จำกัดโอกาสในการเลือกซื้อหรือขายสินค้าหรือบริการของคู่ค้า จำกัดโอกาสของคู่ค้าในการหาสินเชื่อจากผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นอย่างไม่เป็นธรรม

3.ระงับ ลด หรือจำกัดการบริการ การผลิต การซื้อ การขาย การส่งมอบ การนำเข้า โดยไม่มีเหตุผลสมควร รวมถึงการทำลายหรือทำให้สินค้าเสียหายเพื่อลดปริมาณสินค้าให้ต่ำกว่าความต้องการของตลาด 4.แทรกแซงธุรกิจผู้อื่นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

ซึ่งจะมีเกณฑ์ เช่น การกระทำนั้นไม่ใช่การดำเนินธุรกิจตามปกติ ไม่เคยปฏิบัติมาก่อน เงื่อนไขไม่ได้ทำเป็นลายลักษณ์อักษรและไม่ได้แจ้งคู่ค้าทราบล่วงหน้าในระยะเวลาที่เหมาะสมตามแนวทางการค้าปกติ ของคู่กรณี การกระทำนั้นไม่มีเหตุผลอันชอบธรรมในทางธุรกิจ การตลาดหรือเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น