สหรัฐแบนถุงมือยางป่วน เกษตรตั้งคณะทำงานแก้

สหรัฐแบนถุงมือยาง

เกษตรฯตั้ง คณะทำงานเฉพาะกิจ แก้เกมสหรัฐแบนถุงมือยางลาเท็กซ์ กยท.ลุยหาตลาดใหม่เสริม ชูจุดเด่นย่อยสลายเร็ว ลดคาร์บอน ด้าน ส.ชาวสวนเดือดรัฐรู้นานแต่ไม่เร่งแก้ หวั่นสูญตลาดสหรัฐ 2.7 หมื่นล้านลามต่อถึง EU

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจถึงประสิทธิภาพ คุณภาพ และความปลอดภัยของการใช้ถุงมือยางธรรมชาติ รวมถึงกำหนดแนวทางขยายการส่งออกถุงมือยางธรรมชาติ จากกรณีที่รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา ประกาศกฎหมายห้ามใช้ถุงมือยางลาเท็กซ์ ในกลุ่มธุรกิจบริการอาหาร ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2566

โดย กยท.ได้รายงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อวางมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตในระบบการผลิต ซึ่งไทยส่งออกไปสหรัฐ 27,000 ล้านบาท มีสัดส่วน 23% เป็นอันดับ 2 รองจากมาเลเซียที่มีสัดส่วน 49%

“สหรัฐห้ามใช้ถุงมือยางธรรมชาติ เพราะมีผู้ที่แพ้โปรตีนในถุงมือ ซึ่ง กยท.รับทราบมานานและร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวิจัยและพัฒนาจนสามารถผลิตถุงมือยางที่ไม่มีโปรตีนปน หรือลดลงอยู่ในระดับที่ไม่กระทบต่อร่างกาย แต่การส่งออกสินค้าประเภทนี้จะต้องผ่านการรับรองจากมาตรฐานองค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ซึ่งจะดำเนินการต่อไป”

โดยสหรัฐเป็นตลาดนำเข้าถุงมือยางธรรมชาติมากที่สุดของโลกปี 2565 มูลค่า 3,275 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.18 แสนล้านบาท สหรัฐจึงส่งเสริมผลิตถุงมือยางสังเคราะห์เองลดพึ่งพานำเข้า

“แนวโน้มการใช้ถุงมือยางยังเติบโตทั้งในครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรม และปีนี้มีแนวโน้มการส่งออกยางธรรมชาติไปยังตลาดใหม่ คือ จีน ที่ไทยมีมูลค่าส่งออกในปี’64 รวม 4,110 ล้านบาท ขยายตัว 43.59% และอินเดีย 1,460 ล้านบาท ขยายตัว 39.10% จุดเด่นถุงมือยางธรรมชาติสามารถย่อยสลายได้ภายใน 10 ปี เร็วกว่าถุงมือยางสังเคราะห์ที่ใช้เวลากว่า 100 ปี ทั้งยังช่วยเรื่องคาร์บอนฟุตพรินต์ ราคาไม่ต่างกันมากนัก”

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิใน คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทราบมาว่าผู้ประกอบการไทยที่มีสินค้าในสต๊อกแทบเจ๊งหมด 25 โรงงาน เพราะขายถุงมือยางไม่ออก

อุทัย สอนหลักทรัพย์

เรื่องนี้ได้นำเรียนคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ไปนานแล้วเพราะเกรงว่าจะลามไปทั่วสหรัฐอเมริกา เสียตลาดนี้ 27,000 ล้านบาท และอาจลามไปถึงสหภาพยุโรป และกระทบเป็นลูกโซ่ถึงเกษตรกร ซึ่งการตั้งคณะทำงานมาแก้ไขต้องมีคนผู้ที่รู้จริง และมีการสื่อสารกัน