
ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม ท่ามกลางความกังวลอุปทานตึงตัว หลังรัสเซียประกาศลดกำลังการผลิต
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ ระบุว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคา ดังนี้ ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มมากกว่า 2% เนื่องจากตลาดกังวลภาวะอุปทานตึงตัว หลังนายอเล็กซานเดอร์ โนวัค รองนายกรัฐมนตรีรัสเซีย กล่าวว่า รัสเซียจะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันในเดือน มี.ค. ลง 500,000 บาร์เรลต่อวัน หรือประมาณ 5% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรและจำกัดเพดานราคาน้ำมันดิบรัสเซีย ของสหภาพยุโรปและกลุ่มประเทศ G7 อีกทั้งเรือบรรทุกน้ำมันที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้เป็นอุปสรรคต่อความพยายามของรัสเซียในการขายน้ำมันไปยังตลาดอื่น ๆ
- กรมอุตุฯอัพเดต เส้นทางพายุไต้ฝุ่น “มาวาร์” เตือนฝนตกหนัก 27-30 พ.ค.
- กูรูตลาดทุน วิเคราะห์วิสัยทัศน์ตัวเต็ง รมว.คลัง “ไม่แย่ แต่ ไม่ใช่”
- ดวงรายสัปดาห์ 28 พฤษภาคม-3 มิถุนายน 2566
แหล่งข่าวรอยเตอร์ระบุว่า กลุ่มโอเปกและพันธมิตร (OPEC+) ไม่มีแผนที่จะดำเนินการใด ๆ หลังจากรัสเซียประกาศลดการผลิตน้ำมัน นอกจากนี้กลุ่มโอเปกยังคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันอาจกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในปี’66 เนื่องจากอุปสงค์ของจีนที่จะฟื้นตัวขึ้นหลังจากมาตรการควบคุมโควิด-19 ถูกยกเลิก และการขาดเงินลงทุนในการเพิ่มอุปทานน้ำมัน ซึ่งอาจทำให้ราคาน้ำมันดิบมีโอกาสกลับมาที่ระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) รายงานกำลังการผลิตของโรงกลั่นในสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 449,000 บาร์เรลต่อวัน โดยเพิ่มขึ้น 2.2% ทำให้กำลังการผลิตโดยรวมของโรงกลั่นในสหรัฐอยู่ที่ระดับ 87.9%
ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ จากการส่งออกน้ำมันเบนซินที่สูงขึ้นของสิงคโปร์ อย่างไรก็ตามคาดว่าความต้องการใช้น้ำมันของอินโดนีเซียและมาเลเซียจะปรับตัวเพิ่มขึ้นก่อนช่วงถือศีลอด
ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ จากการส่งออกน้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้นจาก เกาหลีใต้ ไต้หวัน และจีน ในขณะที่อุปสงค์ในภูมิภาคและยุโรปยังทรงตัว
โดยราคาน้ำมันเวสต์เทกซัสซื้อขายเมื่อ 10 ก.พ. 2566 อยู่ที่ 79.72 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น +1.66 เหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันเบรนต์อยู่ที่ 86.39 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น +1.89 เหรียญสหรัฐ