สั่งปิดโรงงานผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์เครื่องบิน หลังไฟไหม้ในนิคมฯ ปิ่นทอง

ผู้ว่าฯ การนิคมอุตสาหกรรมฯ เผยเหตุเพลิงไหม้โรงงานในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง ชลบุรี คาดเกิดจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจร สั่งหยุดประกอบกิจการโรงงานทั้งหมดเป็นการชั่วคราว หลังพบตัวอาคารความเสียหายค่อนข้างมาก และต้องส่งแผนการแก้ไขและแนวทางป้องกันในอนาคตเพิ่ม

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เมื่อคืนวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 ในเวลา 20.15 น. ซึ่งเป็นโรงงานของบริษัท ไลสตริทส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ของเครื่องบิน โดยในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงระหว่างการเปลี่ยนกะก่อนการเริ่มทำงานของกะกลางคืน

ทั้งนี้ ในขณะเกิดเหตุเจ้าหน้าที่จากสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง หน่วยดับเพลิงในพื้นที่ หน่วยกู้ภัย และมูลนิธิต่าง ๆ ได้เข้าร่วมอำนวยการและควบคุมเพลิงจนสามารถควบคุมเพลิงได้ในเวลาประมาณ 23.00 น.

นอกจากนี้ หน่วยดับเพลิงยังจัดกำลังพลคอยเฝ้าระวังตลอดคืน ซึ่งมีผู้บาดเจ็บ 1 ราย แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยอาการของผู้บาดเจ็บพบว่าบาดเจ็บเล็กน้อย มีแผลจากสะเก็ดของเศษพลาสติกและไฟที่แขนทั้งสองข้างและหน้าขาขวา ซึ่งบริษัทได้นำส่งโรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา ได้รับการปฐมพยาบาลและกลับบ้านได้ตั้งแต่คืนวันเกิดเหตุ

จากการสอบสวนเบื้องต้น สาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้คาดว่าเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรจากรางท่อสายไฟที่อยู่เหนือฝ้าเพดานห้องกัดชิ้นงานด้วยกรด (Etching Room) และลุกลามขึ้นไปยังเพดานอาคารโรงงาน ซึ่งมีฉนวนกันความร้อนปูทั่วถึงตลอดพื้นที่ ทำให้เพลิงลุกลามอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ จากการสำรวจพื้นที่โดยรอบโรงงานพบว่าอาคารได้รับความเสียหายค่อนข้างมาก จึงสั่งการให้ปิดกั้นพื้นที่ และหยุดประกอบกิจการโรงงานทั้งหมดเป็นการชั่วคราว

“กนอ.อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 สั่งการให้บริษัทหยุดประกอบกิจการและปรับปรุงแก้ไขโรงงาน ซึ่งหลังจากนี้บริษัทต้องยื่นเอกสารแสดงผลการปรับปรุงอาคารโรงงานและตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างอาคาร และตรวจสอบความปลอดภัยของระบบอุปกรณ์ภายในโรงงาน ที่ต้องผ่านการรับรองจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ พร้อมทั้งจัดส่งให้ กนอ.พิจารณาตรวจสอบก่อนด้วย”

อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (13 ก.พ. 2566) ได้มีการประชุมผู้เกี่ยวข้อง และสั่งการให้เร่งทบทวนมาตรการป้องกันต่าง ๆ โดยด่วน หากเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นอีกต้องดำเนินการอย่างไร เพื่อให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว และเกิดความเสียหายให้น้อยที่สุด รวมถึงให้มีการตรวจสอบอุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วยว่า ยังสามารถใช้งานได้อย่างปกติและมีเพียงพอหรือไม่ เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม และเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมด้วย