“สนธิรัตน์” เผยส่งออกเดือนม.ค.61 พุ่ง 17.6% สูงสุดรอบ 5 ปี

“สนธิรัตน์” เผยส่งออกเดือนม.ค.61 พุ่ง 17.6% สูงสุดรอบ 5 ปี ตลาดส่งออกขยายตัวทุกตลาด ส่งออกสินค้าดีขึ้น เร่งผลักดันสินค้าบริการ-สินค้าใหม่เข้าตลาด มั่นใจส่งออกทั้งปีโต 8% ตามเป้าหมาย ส่วนบาทแข็งหนุนเอกชนนำเข้าเครื่องจักร-วัตถุดิบพุ่ง 24.3%

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกของไทยในเดือนมกราคม 2561 ขยายตัว 17.6% สูงสุดในรอบ 62 เดือน หรือ 5 ปี คิดเป็นมูลค่า 20,101 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 20,220 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 24.3% ทำให้ ไทยขาดดุล 119.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

“แม้ว่าหลายฝ่ายจะวิตกว่าปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าจะกระทบต่อการส่งออก แต่กลับพบว่าในเดือนแรกของปีการส่งออกของไทยยังเป็นบวก แสดงว่าค่าเงินบาทไม่ได้มีผลด้านลบต่อต่อการส่งออกไทย และค่าเงินบาทที่แข็งค่านั้นมาจากการที่สหรัฐฯ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า ซึ่งส่งผลให้ประเทศอื่นในภูมิภาคแข็งค่าเป็นไปในทิศทางเดียวกับไทย จึงมั่นใจว่าในปีนี้การส่งออกจะขยายตัวได้ 8% ตามเป้าหมาย ภายใต้สมมติฐานค่าเงินบาทเฉลี่ย 32-34 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ และราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 55-65 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาเรลล์ โดยให้การส่งออกได้ตามเป้าหมาย มูลค่าการส่งออกต่อเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 21,412 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ”

ส่วนการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าเชื้อเพลิง สินค้าทุน และวัตถุดิบ ถือเป็นสิ่งที่ดี ในช่วงภาวะเงินบาทแข็งค่าเป็นการใช้ประโยชน์จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นของผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ การส่งออกที่ขยายตัวในเดือนนี้ เป็นผลมาจากตลาดส่งออกขยายตัวได้ดีในทุกตลาด โดยตลาดหลักขยายตัว 15.1% ตามการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยการส่งออกไป สหรัฐฯ ขยายตัว 11.3% ญี่ปุ่น 26.3 % และสหภาพยุโรป 8.9 % ขณะที่การส่งออกไปตลาดศักยภาพสูงยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ 15.1% โดยมีสาเหตุสำคัญจากการขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่องของจีน 11.6% CLMV ขยายตัว 18.4 % และเอเชียใต้ขยายตัว 26.1% และการส่งออกอาเซียน ขยายตัว 14.3% ด้านตลาดศักยภาพระดับรองฟื้นตัวในเกณฑ์สูงที่ 18.9% เนื่องจากการส่งออกไปทวีปออสเตรเลียขยายตัว 18.7 % ตะวันออกกลาง 11.0 % แอฟริกา 37.0 % และกลุ่มประเทศ CIS 72.0 %

ขณะที่การส่งออกรายสินค้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เช่น สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 16.2% สูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 สินค้าส่งออกได้ดี ได้แก่ ข้าว ขยายตัว 37.2% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัว 42.3% น้ำตาลทราย กลับมาขยายตัว 42.2% ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ขยายตัว 18.4 % อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 20.4% แต่สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา หดตัว 20.7% โดยมีสาเหตุหลักมาจากปัจจัยทางด้านราคา และผลไม้กระป๋องและแปรรูป หดตัว 7.3%

สำหรับกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 17.2% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 18.2% เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 21.5% เครื่องยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัว 87.9% เคมีภัณฑ์ ขยายตัว 40.5% สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ทองคำ ยังคงหดตัว 21.3% ส่วนแนวโน้มการส่งออกไทยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2561 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นขยายตัวที่ 8% โดยสินค้าสำคัญที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น

นายสนธิรัตน์กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ ยังเน้นการพัฒนาเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าใหม่ๆ รวมถึงสินค้าบริการ ตลอดจนผลักดัน เอสเอ็มอีให้มีการส่งออกมากขึ้นซึ่งจะเป็นตัวผลักดันการส่งออกให้โต

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องติดตามที่อาจมีผลกระทบต่อการส่งออกไทย คือ ความไม่แน่นอนของนโยบายทางการค้าของประเทศคู่ค้าหลัก ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ รวมทั้งผลผลิตสินค้าเกษตรโลกที่มีโอกาสผันผวนตามสภาพอากาศ ที่จะมีผลต่อการส่งออกไทยในภาพรวมของปีนี้