
สนพ.รับ PDP2022 ล่าช้า เหตุรอคำวินิจฉัยของศาลมาปรับปรุง คาดเคาะแผนกลางปีนี้ เเง้มกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้า เอกชน 30% การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 30% ที่เหลือ 40% นำมาประมูล และ กฝผ.แข่งได้
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า
- กรมอุตุฯประกาศเตือนฉบับ 18 ฝนตกหนักมาก กทม.หนัก 70% ของพื้นที่
- รถ EV จีนไซซ์เล็กกระทบหนัก เว็บกรมขนส่งระบุจดทะเบียนแค่คันเดียว
- กาญจนบุรีเตือน 2 อำเภอ ระวังน้ำท่วมฉับพลัน 7-11 มิ.ย.
ที่ประชุม กพช.ได้รายงานถึงผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับกรณีที่มีผู้ร้องว่าการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย PDP โดยมีการกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐต่ำกว่า 50% ซึ่งเป็นการขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่มีข้อเสนอแนะให้ไปพิจารณาความชัดเจนเพดานสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเอกชนในระบบ และกำหนดปริมาณสำรองไฟฟ้าให้สอดคล้องกับความเป็นจริง
ดังนั้น จากคำวินิจฉัยศาลดังกล่าว สนพ.ยอมรับว่าส่งผลให้การจัดทำ PDP 2022 ต้องล่าช้าออกไปจากแผนเดิมที่วางไว้ เพราะต้องนำคำวินิจฉัยของศาลมาปรับปรุงโดยจะพยายามจัดทำให้เสร็จภายในไม่เกินกลางปีนี้ เบื้องต้นกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้านี้อาจจะเป็น เอกชน 30% การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 30% และที่เหลือ 40% นำมาประมูล
โดย กฟผ.ก็สามารถร่วมแข่งขันได้ และให้ใช้ดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (Loss of Load Expectation : LOLE) เป็นเกณฑ์วัดความมั่นคงของระบบไฟฟ้า แทนการใช้กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) เพราะสะท้อนความมั่นคงของระบบไฟฟ้าได้มากกว่าเดิม เนื่องจากแผนใหม่จะมีการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ซึ่งจะเน้นดูการผลิตไฟฟ้าจริง ไม่ใช่ดูที่กำลังการผลิตไฟทั้งหมด ทั้งนี้ กระทรวงอยู่ระหว่างพิจารณาการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (PDP2022) ที่จะให้สอดรับกับแนวทางดังกล่าว นายวัฒนพงษ์กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช.ยังมีมติเห็นชอบให้ปรับวงเงินลงทุนโครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก จากบางปะกงไปโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ของ ปตท. ที่ กพช.ได้อนุมัติไว้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 จากเดิมวงเงินลงทุน 11,000 ล้านบาท เป็น 13,590 ล้านบาท
เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในส่วนของพื้นที่และวิธีการวางท่อก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีผลทำให้ต้นทุนในการดำเนินโครงการปรับเพิ่มสูงขึ้น และมอบหมายให้ กกพ.พิจารณาการส่งผ่านภาระการลงทุนโครงการที่เพิ่มขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่ออัตราค่าบริการไฟฟ้าและค่าบริการก๊าซธรรมชาติในอนาคต ไปยังผู้ใช้พลังงานได้เท่าที่จำเป็น และสอดคล้องกับเหตุผลของการปรับเพิ่มวงเงินลงทุน
อีกทั้งที่ประชุม กพช.ยังมีมติเห็นชอบแนวทางบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้ากลุ่มเปราะบางในช่วงวิกฤตพลังงาน โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบการปรับปรุงแนวทางการให้ความร่วมมือของ ปตท. ในการให้ความช่วยเหลือเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้ากลุ่มเปราะบาง
ซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือนในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2566 วงเงินช่วยเหลือจะอยู่ที่ประมาณ 4,300 ล้านบาท และให้ กฟผ.สามารถนำต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติที่ลดลงดังกล่าว ไปใช้ในการลดค่าไฟฟ้าแก่กลุ่มเปราะบางข้างต้น โดยมอบหมายให้ กกพ.กำกับดูแลการดำเนินการต่อไป