ยุบรวม 2 กองทุนSMEs”ฟื้นฟู/พลิกฟื้น” แก้นิยาม NPL

ก.อุตฯจ่อยุบรวม “กองทุนฟื้นฟู-กองทุนพลิกฟื้น” วงเงินรวม 3,000 ล้านบาทเข้าด้วยกัน โดยให้แบงก์ SME เป็นผู้บริหารแทน พร้อมตีความหนี้ NPL แต่ยังสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ใหม่ เพื่อเปิดช่องให้ SMEs ตกเกณฑ์ NPL สามารถกลับเข้ามาได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนได้ ด้าน “อุตตม” เตรียมคลอดกองทุนใหม่ช่วยผู้ประกอบการอีก 3 กองทุน

 

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ว่า ในเดือนมีนาคมจะมีกองทุนใหม่อีก 3 กองทุนเข้ามาช่วยเหลือ ได้แก่ 1) สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจวิสาหกิจชุมชน วงเงิน 50,000 ล้านบาท ดูแลบริหารโดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือ SME Bank) โดยจะมุ่งเป้าหมายให้อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป พัฒนาการท่องเที่ยว วิสาหกิจชุมชน และหมู่บ้านสร้างสรรค์ (CIV)

2) สินเชื่อเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรระยะที่ 2 วงเงิน 20,000 ล้านบาท บริหารจัดการโดยธนาคารออมสิน เป้าหมายให้กับ SMEs ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ใช้เป็นทุนในการปรับเปลี่ยนการผลิตให้มีศักยภาพไปสู่ 4.0 และ 3) โครงการฟื้นฟูและเสริมสร้างศักยภาพ SMEs คนตัวเล็ก หรือ micro SMEs วงเงิน 8,000 ล้านบาท บริหารโดย SME Bank และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้กับ SMEs รายที่ประสบปัญหาทางการเงินเข้าถึงแหล่งทุนได้ยาก วงเงินส่วนนี้แบ่งจากกองทุนพัฒนา SMEs ตามแนวประชารัฐ (กองทุน 20,000 ล้านบาท) ที่มีอยู่ปัจจุบัน

ทั้ง 3 กองทุนนี้ได้ปรับกระบวนการบริหารใหม่เกือบทั้งหมด โดยใช้ SME Bank-รถบริการเคลื่อนที่ รวมถึงเครือข่ายเอกชนในพื้นที่เป็นผู้รับเรื่องเพื่อให้เข้าถึงรายเล็ก ๆ และเกิดความคล่องตัวไม่ให้งานกระจุกที่ส่วนกลาง แก้ปัญหาการพิจารณาเอกสารล่าช้าที่นานเกินไป

ด้านนายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า คณะทำงานด้านบริหารกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งมีนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธาน เตรียมที่จะพิจารณา “ยุบรวม” กองทุนเดิม 2 กองทุนที่ช่วยเหลือ SMEs อยู่ในปัจจุบันเข้าด้วยกัน คือ กองทุนฟื้นฟูวงเงิน 1,000 ล้านบาท กับกองทุนพลิกฟื้นวงเงิน 2,000 ล้านบาท ทั้ง

2 กองทุนนี้บริหารจัดการโดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) การยุบรวมจะเป็นการปรับหลักเกณฑ์ เงื่อนไข กำหนดคุณสมบัติใหม่ จัดระบบ ระเบียบ ให้คล่องตัวรวดเร็วในการพิจารณา โดยจะโอนงานให้ SME Bank บริหารทั้งหมด เพื่อเปิดโอกาสให้กับ SMEs ที่มีปัญหาตกเกณฑ์การพิจารณาจากทั้ง 2 กองทุน โดยเฉพาะ SMEs ที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ซึ่งที่ต้องกลับมาตีความนิยามกันใหม่ว่า SMEs ที่เป็น “หนี้ NPL แต่ยังสามารถดำเนินกิจการไปได้” คืออะไร

“การตีความคำว่า ยังสามารถดำเนินกิจการไปได้ ตรงนี้มันกว้างเกินไป SMEs เขาจะรู้ได้อย่างไรว่าเขายังดำเนินธุรกิจไปได้ เมื่อเขามายื่นขอกองทุนสุดท้ายก็ถูกประเมินว่า ดำเนินธุรกิจไปต่อไม่ได้ มันทำให้เขาทั้งเสียเวลาและหมดสิทธิรับความช่วยเหลือ ดังนั้นคณะกรรมการบริหารกองทุนจึงอยู่ระหว่างการตีความ จำกัดคำนิยามนี้ระบุให้ชัดเจนว่า ดำเนินธุรกิจต่อไปได้คืออะไร เช่น มีตลาดส่งขายยาวตลอด หรือยังมียอดขายเฉลี่ยต่อเดือน หรือหากยอดขายหายไปบ้างแต่ต้องไม่ลดลงมากนัก” นายสมชายกล่าว

อย่างไรก็ตาม กองทุนฟื้นฟู (1,000 ล้านบาท) แม้จะอนุมัติและสามารถเบิกจ่ายไปได้แล้วหลายร้อยราย แต่ยังคงมีอีกกว่า 200-300 รายที่ “ยังรอการพิจารณา” ในจำนวนนี้จึงยังไม่สามารถรู้ว่าจะได้รับการอนุมัติหรือไม่ ส่วนหนึ่งอาจขาดคุณสมบัติ ไม่เข้าหลักเกณฑ์เนื่องจากส่วนใหญ่พบว่าปัญหาหลักคือเป็นหนี้ NPL กับสถาบันการเงินเอกชนอื่น และไม่มีเอกสารยืนยันถึงการปรับโครงสร้างหนี้จากทางแบงก์ จึงเป็นกลุ่มที่ไม่ผ่านการอนุมัติ

ดังนั้น คาดว่าจะยังคงมีวงเงินกองทุนเหลืออยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งภายในเดือนมีนาคมนี้ เมื่อมีการอนุมัติและเบิกจ่ายครบหมดจึงจะพิจารณาว่า จะยุบรวมกันหรือดำเนินการอย่างไรต่อ ขณะที่กองทุนพลิกฟื้น (2,000 ล้านบาท) มียอดคำขอเข้ามาจำนวนมาก และประเมินเบื้องต้น ยอดคำขอดังกล่าวเกินกว่าวงเงินที่กองทุนมี

“ก็จะเป็นการเอาวงเงินที่เหลือของกองทุนฟื้นฟู (1,000 ล้านบาท) มาเติมให้กับวงเงินของกองทุนพลิกฟื้น (2,000 ล้านบาท) เพราะกองทุนนี้เงินไม่พอด้วยยอดขอกู้มีจำนวนมากจริง ๆ” นายสมชายกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในกรอบเวลา 7 วัน SMEs ที่ยื่นคำขอจะรู้ว่าผ่านเกณฑ์หรือไม่ จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาซึ่งจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับเอกสารของเอสเอ็มอีครบหรือไม่ หลังจากอนุมัติแล้วจะใช้เวลา 30 วันในการเบิกจ่าย

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ยังมุ่งเน้นการพัฒนาและช่วยเหลือ SMEs ในด้านต่าง ๆ ตลอดจนการเร่งจัดทำแผนและนโยบายแพ็กเกจต่าง ๆ สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve)