CPFเตรียมผุดโรงเชือด3แห่ง ผงาดสู่ธุรกิจสุกรครบวงจร

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข่าว
CPF เตรียมแผนขึ้น 3 โรงเชือดหมูแห่งใหม่ ทุ่มทุนประเดิม “จ.ลำปาง-กำแพงเพชร” พร้อมทำสัญญาเช่าโรงชำแหละเทศบาลยาว 15-20 ปี วาดเป้าผงาดสู่ธุรกิจสุกรครบวงจร

 

นายสมควร ชูวรรธนะปกรณ์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ สายธุรกิจสุกร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทอยู่ระหว่างจัดทำแผนงานโครงการก่อสร้างโรงชำแหละสุกรแห่งใหม่ที่ได้มาตรฐานสุขอนามัย ประมาณ 2-3 แห่ง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือบริเวณจังหวัดลำปาง และกำแพงเพชร วงเงินลงทุนแห่งละประมาณ 100 ล้านบาท สามารถชำแหละสุกรได้ประมาณ 500-600 ตัวต่อวัน

ขณะเดียวกันมีแผนที่จะเช่าดำเนินการโรงชำแหละสุกรของเทศบาลในจังหวัดต่าง ๆ เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันมีเช่าอยู่ 10 แห่ง เช่น หนองคาย หนองบัวลำภู พัทลุง เป็นต้น ในลักษณะสัญญาเช่าระยะยาว 15-20 ปี แล้วนำมาปรับปรุงให้ได้มาตรฐานสุขอนามัย

“กลยุทธ์การทำตลาดในต่างจังหวัดของซีพีเอฟ คือ ต้องทำธุรกิจให้ครบวงจร บริษัทจึงมีแผนขยายการลงทุนในส่วนของธุรกิจสุกรให้ครอบคลุมในหลายจังหวัดทั่วประเทศ เมื่อเราทำโรงชำแหละให้มีมาตรฐานสุขอนามัยมากขึ้น โดยหมูที่จะมาเข้าโรงชำแหละต้องมาจากฟาร์มเลี้ยงที่ได้มาตรฐาน และเมื่อชำแหละเสร็จต้องขนส่งด้วยรถห้องเย็น และวางขายในตู้เย็น ทำให้ซากเย็นมีคุณภาพดี” นายสมควรกล่าว และว่า

ที่ผ่านมาซีพีเอฟไปสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการรายเล็กในต่างจังหวัด โดยมีโครงการตู้เย็นชุมชน ด้วยการนำตู้เย็นไปตั้งให้ร้านค้า ซึ่งจะมีโลโก้กรมปศุสัตว์รับรองว่า หมูที่นำมาขายมาจากฟาร์มและโรงฆ่ามาตรฐาน

สำหรับภาวะสุกรล้นตลาดเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องมากว่า 4 ปีแล้ว คิดว่าทิศทางราคาสุกรหน้าฟาร์มที่ลงมาระดับ 40 กว่าบาทต่อ กก.ในช่วงที่ผ่านมา น่าจะลงต่ำสุดแล้ว ขณะที่ทุนอยู่ระดับ 50 กว่าบาทต่อ กก. ส่งผลให้ผู้เลี้ยงขาดทุน 1,000 กว่าบาทต่อตัว ขณะที่ปริมาณแม่หมูในระบบประมาณ 8-9 แสนตัว ทั้งระบบมีการเชือดหมูประมาณ 16-17 ล้านตัวต่อวันต่อกรณีที่มีผู้เสนอให้จัดทำกฎหมายเพื่อดูแลระบบและรักษาเสถียรภาพราคา และจะมีการเก็บเงินจากระบบเพื่อจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคานั้น นายสมควรกล่าวว่า คงเป็นเรื่องยาก เนื่องจากจำนวนคนเลี้ยงหมูนับ 10,000 ราย จึงควรเป็นไปตามกลไกตลาด

“การแข่งขันไม่ได้รุนแรงแต่ผู้เลี้ยงต้องรู้ตัวเองอยู่ในสินค้าคอมโมดิตี้ ที่ปรับราคาขึ้นและลงไปตามดีมานด์และซัพพลาย คนอยู่ในธุรกิจต้องรู้จักบริหารเงินให้เป็น เวลามีกำไรต้องเก็บไว้ส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ไปลงทุนขยายกิจการมากเกินไป เวลาสภาพคล่องติดขัดมีจะได้นำเงินเก็บมาหมุนเวียน” นายสมควรกล่าว

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้เทคโนโลยีการเลี้ยงหมูของไทยก้าวหน้าไม่ด้อยกว่าอเมริกา แต่ต้นทุนการเลี้ยงหมูของไทยสูงกว่าอเมริกา และหลายประเทศ เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์มีราคาแพง โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งอเมริกาสามารถปลูกข้าวโพดได้ 1,200-1,300 กก.ต่อไร่ แต่ไทยได้ 650 กก.ต่อไร่ ซึ่งการเลี้ยงหมู 1 ตัว มีต้นทุนเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ 65% แล้ว การที่นโยบายภาครัฐอุ้มชูคนปลูกข้าวโพด ทำให้ราคาของไทยแพงกว่าเวียดนาม มาเลเซียซึ่งนำเข้าอิสระ ทั้งนี้ เห็นว่า ทุกอย่างควรเป็นไปตามกลไกตลาด ภาครัฐควรส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชชนิดอื่นที่เกษตรกรไทยแข่งขันได้

“ภาครัฐอย่ามัวไปส่งเสริมในจุดที่เราสู้ไม่ได้ หรือบางพื้นที่เหมาะสมปลูกพืชอย่างอื่นมากกว่าข้าวโพด ตอนนี้ธุรกิจหลายอย่างล่มสลาย โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราต้องให้คนเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงแล้วอยู่รอดมันผิดวิสัย มันต้องแข่งขันกันหมด ซีพีเฟรชมาร์ทจะปิดอีกหลาย 10 สาขาในปีหน้า แบงก์เองยังต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไทยมีความสามารถแข่งขันอะไรก็มุ่งไปทำตรงนั้น ถ้าอันไหนสู้ไม่ได้ก็เลิกทำ เช่น มุ่งสู่การเป็นครัวของโลก ที่ผ่านมารัฐบาลเห็นตรงนี้ จึงมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย” นายสมควรกล่าว