ลุ้นจีดีพีปี’61 โต 4.6% ส่งออกเป็น “พระเอก” ดันเศรษฐกิจไทย

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจ (GDP) ปี 2560 ไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 เติบโต 4.0% ส่งผลให้ GDP ทั้งปีเป็นตามคาดการณ์ไว้ที่ 3.9% โดย นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สศช. กล่าวถึงปัจจัยหนุนเศรษฐกิจไตรมาส 4/2560 มาจากการบริโภคเอกชนขยายตัว 3.5% การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 2.4% การส่งออกไตรมาส 4 เติบโตถึง 11.6% ส่งผลให้ทั้งปีการส่งออกขยายตัวได้ 9.7% จากปีก่อนที่ขยายตัว 0.1% และรายได้ภาคท่องเที่ยวทั้งปี 2560 มูลค่า 2,754 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.5% จากปีก่อน โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่ที่ 39.38 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 8.8%

ลุ้นเศรษฐกิจไทยโตกว่าเกิน 4.6%

สศช.ได้คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2561 น่าจะเติบโตในกรอบ 3.6-4.6% หรือเฉลี่ย 4.1% ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตในภาคการลงทุนภาครัฐจะอยู่ที่ 10.0% จากปีก่อนที่ติดลบ 1.2% โดยมาจากการลงทุนตามกรอบงบประมาณประจำปี และการลงทุนของภาครัฐวิสาหกิจ ความคืบหน้าของแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน Action Plan และ EEC ทำให้เกิดการลงทุนใหม่ ส่วนการลงทุนภาคเอกชน คาดจะขยายตัว 3.7% จากปีก่อนที่ขยายตัวเพียง 1.7% และจากเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางขยายตัวได้ดี ยังทำให้ไทยได้รับอานิสงส์การส่งออกจะเติบโต 6.8%

นอกจากนี้ ผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและการเร่งลงทุนทั้งของภาครัฐและเอกชน รวมถึงการส่งออกที่ดีจะหนุนให้เกิดการเร่งนำเข้าเครื่องจักรและสินค้าทุนเพิ่มขึ้น ทำให้แนวโน้มการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดปีนี้มีทิศทางขาดดุลลดลง

ส่วนค่าเงินบาทแม้จะแข็งค่าในช่วงต้นปี แต่เชื่อว่าระยะถัดไปจะมีแนวโน้ม “อ่อนค่าลงได้บ้าง” จากการที่สหรัฐขึ้นดอกเบี้ย และไทยมีการเร่งนำเข้า สภาพัฒน์ประมาณการค่าเงินปีนี้อยู่ที่ 31.50-32.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

“สมคิด” ขีดเป้าส่งออกปี’61 โต 8%

ด้าน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ประชุมมอบนโยบายการปฏิบัติงานแก่ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ทั่วโลก ด้วยการวางเป้าหมายการส่งออกในปี 2561 ขยายตัว 8% มูลค่า 255,630 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยทุกตลาดขยายตัวเพิ่มขึ้น (ตารางประกอบ) พร้อมเน้นย้ำให้ “ทูตพาณิชย์” ปรับบทบาทใหม่ให้เป็นพ่อค้ามากขึ้น ดึงการลงทุน ขยายตลาดส่งออก บูรณาการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้น้ำหนักและความสำคัญในการส่งออก “ภาคบริการ” พร้อมส่งเสริม SMEs ให้เป็น “นักรบใหม่” หรือ “นักธุรกิจใหม่” โดยผู้ส่งออกรายใหญ่จะเป็นพี่เลี้ยงพา SMEs ไปทำตลาด โฟกัสไปที่ตลาดที่มีกำลังซื้อสูง เช่น ฮ่องกง-ไต้หวัน-จีน-เกาหลีใต้

ทูตพาณิชย์ทั่วโลกประเมินส่งออก

นายจิรวุฒิ สุวรรณอาจ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา กล่าวว่า การส่งออกไปตลาดอาเซียนมีเป้าหมายขยายตัว 6.5% โดยจะส่งเสริมการส่งออกสินค้านวัตกรรมให้มากขึ้น ทั้งซอฟต์แวร์-แอปพลิเคชั่น-เกม-แอนิเมชั่น โดยเฉพาะในตลาด CLMV การบุกตลาดเมืองรองและเชื่อมโยงโครงการ EEC และ OBOR ขณะที่ นายวิทยากร มณีเนตร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฮ่องกง ประเทศจีน ระบุว่า เป้าหมายการส่งออกตลาดจีน ขยายตัว 10% โดยขณะนี้จีนมีนโยบายภายในที่ต้องการสร้างความเจริญไปสู่ชนบทให้มากขึ้น และจะมีการเพิ่มการเจรจาความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี FTA ในต่างประเทศมากขึ้น ไทยต้องเดินหน้าสร้างการร่วมทุนจีน-ฮ่องกง-ไทย เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิต เช่น รถยนต์ไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า

นางสาวสุวิมล ดิลกเรืองชัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย คาดการณ์เป้าหมายการส่งออกอินเดีย จะขยายตัว 8% ขณะนี้ให้ความสนใจตลาดอีคอมเมิร์ซ แต่ยังมีปัญหาเรื่องระบบโลจิสติกส์ที่เป็นโอกาสที่ไทยน่าจะเข้าไปได้ ส่วนนางสาวณัฐิยา สุจินดา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า เป้าหมายการส่งออกญี่ปุ่นขยายตัว 8% ไต้หวันขยายตัว 7% เกาหลีใต้ขยายตัว 12% และทวีปออสเตรเลียขยายตัว 8% โดยจะมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือจับคู่ธุรกิจการค้า การสร้างแพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมสินค้าไทยออกสู่ตลาดให้มากขึ้น

นางสาวสุภาวดี แย้มกมล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร เปิดเผยว่า ตลาดสหภาพยุโรปมีเป้าหมายขยายตัว 5% ภายหลังจากสหภาพยุโรปฟื้นความสัมพันธ์กับไทย เป็นโอกาสที่จะยกระดับความสัมพันธ์ทางการค้า การส่งออก ขณะที่ตลาดรัสเซียมีโอกาสจะขยายตัวได้ถึง 30% นายนพดล ทองมี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวถึงการส่งออกไปอเมริกาเหนือน่าจะขยายตัว 7% ละตินอเมริกาขยายตัว 3% เศรษฐกิจมีการเติบโต บวกกับขณะนี้ราคาน้ำมันมีการปรับตัวดีขึ้น ที่สำคัญผลดีจากการจัดสถานะประเทศคู่ค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ไทยได้ปรับดีขึ้น

เอกชนมองส่งออกได้แค่ 6%

ขณะที่ นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยังมองว่า ตัวเลขส่งออกปีนี้น่าจะขยายตัวเพียง 6% หรือ “ต่ำกว่า” เป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ เนื่องจากคู่แข่งส่งออกที่สำคัญอย่าง “เวียดนาม” ส่งออกสินค้าชนิดเดียวกับไทยได้มากขึ้น เช่น กุ้ง ขณะที่ค่าเงินบาทก็เป็นปัจจัยที่ยังกังวลต่อเนื่องอยู่ สำหรับปัจจัยบวกต่อการส่งออกมาจากทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อกำลังซื้อของตลาดส่งออกที่เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมัน