“รมว.พลังงาน” ชี้ต้องชัดเจนสัมปทานใหม่ ยันภาคใต้ยังไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่

“รมว.พลังงาน” ชี้ต้องชัดเจนสัมปทานใหม่ในแหล่งเอราวัณ-บงกช เพื่อความมั่นคงพลังงานของประเทศ เผย ภาคใต้ยังไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ หากสามารถแก้ปัญหาสายส่งคอขวด-เพิ่มพลังงานชีวมวล

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในงาน Meet the Press ในประเด็นสัมปทานสำรวจและผลิตแหล่งก๊าซบงกช/เอราวัณ ครั้งใหม่ ว่าตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ทราบว่าภาระหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คือ การสร้างความมั่นคงของระบบพลังงานของประเทศให้มีประสิทธิภาพ โดยได้กำหนดเป้าหมายภารกิจไว้เฉพาะเรื่องที่มีความสำคัญจำเป็นเร่งด่วนให้สัมฤทธิ์ผลภายใน 1 ปี

นายศิริกล่าวว่า เรื่องแรกที่สำคัญที่สุดในด้านความมั่นคงทางพลังงานของประเทศในระยะยาว คือ การมีแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติ 2 แหล่งใหญ่ในอ่าวไทย ซึ่งผลิตก๊าซธรรมชาติประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ของก๊าซธรรมชาติที่เราใช้ ไฟฟ้าที่ผลิต 60% ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ดังนั้น หากไม่สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติจาก 2 แหล่ง คือ แหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช ประเทศไทยก็จะมีปัญหาเรื่องความมั่นคงของไฟฟ้าในอนาคต กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ปัญหาของ 2 แหล่งดังกล่าวคือ สัมปทานที่ให้แก่กลุ่มบริษัทเชฟรอนในการร่วมผลิตในแหล่งเอราวัณ และสัมปทานที่มีไว้กับ ปตท.สผ.ที่แหล่งบงกช จะสิ้นอายุสัมปทานในปี 2565 หากหยุดสัมปทาน ไม่มีการผลิตต่อ ไทยจะขาดก๊าซธรรมชาติ ถ้าไม่มีความชัดเจน การลงทุนของบริษัทที่รับสัมปทานทั้ง 2 ราย อาจจะลงทุนน้อยลง เพราะการลงทุนแต่ละครั้งต้องใช้เวลาในการคืนทุน อย่างน้อย 5 ปีขึ้น ช่วงนี้จึงเป็นระยะรอยต่อที่ต้องสร้างความชัดเจนให้เกิดขึ้นในปีนี้ มิเช่นนั้นจะทำให้ระบบพลังงานขาดความแน่นอน กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ

นายศิริกล่าวว่า เรื่องที่สองคือ ระบบไฟฟ้าสำหรับภาคใต้ มีความเชื่อมาตลอดว่าระบบไฟฟ้าในภาคใต้อาจจะไม่มั่นคง เพราะเคยเกิดเหตุการณ์ไฟดับทั้งภาคมาแล้ว จึงมีความจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น 2 แห่ง คือ ที่กระบี่และขนอม รวมกำลังการผลิตได้เกือบ 3,000 เมกะวัตต์ แต่ก็มีอีกความเชื่อหนึ่งที่บอกว่า ภาคใต้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพียงพอหรือเกินความจำเป็นด้วยซ้ำไป ข้อมูล 2 ชุดนี้ทำให้เกิดความสับสน การสร้างโรงไฟฟ้าในภาคใต้จึงมีหลายกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวแสดงความเป็นห่วงเรื่องสิ่งแวดล้อมและด้านอื่นๆ ทั้ง 2 มุมมองต่างมีเหตุผลที่ดี จึงจำเป็นต้องทำให้ข้อเท็จจริงปรากฏ

นายศิริกล่าวว่า จากการศึกษาและรับฟังรายละเอียดพบว่า ในภาคใต้มีโรงไฟฟ้าหลัก 2 แหล่ง คือที่จะนะและที่ขนอม และมีกำลังการผลิตไฟฟ้าค่อนข้างสูงถึง 2,400 เมกะวัตต์ ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้มีจุดสูงสุดหรือจุดพีคอยู่ที่ 2,600-2,700 เมกะวัตต์ ดังนั้น ภาคใต้จึงมีกระแสไฟฟ้าเพียงพอ และยังมีสายต่อเชื่อมป้อนกระแสไฟฟ้าจากภาคกลางได้ แต่มีปัญหาเรื่องสายส่งที่มีปัญหาคอขวด ดังนั้น หากมีการเพิ่มขนาดและปริมาณของสายส่งเชื่อมระหว่างขนอมและจะนะ เชื่อมระหว่างโรงไฟฟ้าที่อยู่ฝั่งอ่าวไทยต่อไปยังฝั่งอันดามัน เช่น ภูเก็ต กระบี่ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวและมีการใช้ไฟฟ้าเยอะ จะสามารถลดคอขวดลง ทำให้ภาคใต้ก็มีไฟฟ้าเพียงพอ ขณะเดียวกันก็มีจุดอ่อนเรื่องไฟฟ้าใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีความต้องการอยู่ที่ 270-300 เมกะวัตต์ ดังนั้น หากเราสามารถสร้างระบบไฟฟ้าใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยใช้ชีวมวล เช่น กิ่งไม้ เศษไม้ หรือการทำไบโอแก๊สจากน้ำเสียของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน แล้วสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก 1 โรงประมาณ 10-20 เมกะวัตต์ แล้วป้อนไฟฟ้าผ่านระบบเครือข่ายของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ จะสามารถลดภาระความต้องการใช้ไฟฟ้าของ 2 โรงไฟฟ้าหลักลงไปได้ ทำให้ระบบไฟฟ้าในภาคใต้มีความเป็นเอกเทศและมั่นคง ผลการศึกษานี้ได้ทำร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวมถึงได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานความมั่นคงอย่าง ศอ.บต. และ กอ.รมน. อันเป็นการผสมผสานทั้งเรื่องความมั่นคงและการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 จังหวัดชายแดนใต้ อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาให้มีราคาที่ไม่แพง ส่วนความกังวลถึงความมั่นคงของไฟฟ้าในภาคใต้ วิธีการข้างต้นจะสามารถแก้ปมได้หนึ่งเปราะ โดยที่ไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ไม่ว่าที่เทพาหรือที่กระบี่ ความจำเป็นนั้นก็จะเลื่อนออกไป

 

ที่มา : มติชนออนไลน์