“สมคิด” เคลื่อนเศรษฐกิจทวีคูณ ชูนโยบายเครื่องยนต์ 5 Digital

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Thailand”s Development Landscape Forward” ในงาน “Digital Intelligent Nation 2018” จัดโดยบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ฉายภาพเศรษฐกิจโลกใหม่ ท่ามกลางโอกาสและความเสี่ยง ด้วยปัจจัยแห่งความสำเร็จด้วย 5 ดิจิทัล เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยขยายตัวก้าวกระโดด ดิจิทัลเครื่องยนต์ขับเคลื่อน ศก.ตัวใหม่

นายสมคิดกล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้นับเป็นมิติใหม่ของการสร้างอนาคตใหม่ของประเทศ ปัญหาเศรษฐกิจไทยทรุดตัวเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาพ้นไปแล้ว สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปี 2560 ไตรมาส 4 ขยายตัว 4% รวมทั้งปีเติบโต 3.9% เป็นตัวเลขที่น่าพอใจ

จีดีพีในปี 2561 มั่นใจว่าจะเติบโตเกินกว่าคาดการณ์ไว้ 4.1% แน่นอน หากเป็นไปตามแผน อาทิ การเบิกจ่ายงบประมาณได้เต็มที่ การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) เป็นไปตามเป้าหมาย 7 แสนล้านบาท โปรเจ็กต์ขนาดใหญ่เคลื่อนไปได้ตามเป้าหมาย สำคัญที่สุดเรื่องการส่งออกสามารถทะยานต่อไปอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความเชื่อมั่นไม่ลดลง

จากประสบการณ์ตลอด 10 ปี ตัวเลขเหล่านี้จะทะยานพุ่งไปข้างหน้านั้น มีขีดจำกัดให้ไม่สามารถทะยานต่อไปได้ เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีเครื่องยนต์เก่าและไม่สามารถแข่งขันได้ และสำคัญที่สุด เมื่อใดที่การผลิตทั่วโลกก้าวไปสู่ดิจิทัล เมื่อนั้นสิ่งที่เคยได้เปรียบจากต้นทุนต่ำจะหายไปทันที ฉะนั้น ช่วงเวลา 3-4 ปีนี้ จึงเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงในเวลาเดียวกัน

โอกาส-ความเสี่ยงในโลกดิจิทัล

โอกาสจากเศรษฐกิจโลกเติบโตขึ้นและเข้าสู่สภาวะฟื้นตัว อาเซียนกลายเป็นบ่อทอง เป็นดินแดนที่ทุกค่ายทุกสำนักให้ความสนใจ และประเทศไทยเป็นศูนย์กลางที่แท้จริงของการท่องเที่ยว การค้าและการลงทุน จึงเป็นจังหวะของการใช้โอกาสให้เป็นประโยชน์สูงสุด

ความเสี่ยงจากขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง หากรัฐบาล-เอกชนไม่ปรับตัววันนี้ อนาคตจะลำบาก ช่วงเวลานี้เรียกว่า รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ เพราะดิจิทัล โลกกำลังตื่น ดิจิทัลกำลังทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป ข้อมูล ความรู้ไม่มีขีดจำกัด พฤติกรรมการใช้ชีวิตเปลี่ยนในทุกมิติ รูปแบบ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ แม้กระทั่งรูปแบบการประกอบอาชีพเปลี่ยนแปลงไป สามารถทำงานที่ไหนก็ได้

ความเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดโอกาสอันใหญ่หลวง อาทิ การค้นคว้าและวิจัย การแชร์แนวคิดและนวัตกรรมได้อย่างรวดเร็วเพียงชั่วข้ามคืนเดียว การสร้างความรู้และแปลงเป็นโอกาสทางธุรกิจ ก้าวกระโดดข้ามคนอื่น เป็นความเปลี่ยนแปลงไม่มีที่สิ้นสุด

ภาครัฐพยายามปลุกคนไทยให้ตื่น เพราะขณะนี้โลกกำลังอยู่ในช่วงของการก้าวไปสู่อีกยุคหนึ่ง ยุคซึ่งไม่ใช่เปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนความคิด แต่โลกทั้งโลกเปลี่ยน

ลดความเหลื่อมล้ำ-Digital for all

หลักการ 5 ประการ ที่ภาครัฐและเอกชนต้องก้าวไปสู่โลกยุคดิจิทัล ได้แก่ ประการที่ 1 การทุ่มงบประมาณมหาศาลในเรื่องดิจิทัลจะต้องเป็น digital for all เพื่อไปสู่ทุกคน เพราะหากดิจิทัลไม่สามารถกระจายไปได้ทั่วถึง ความเหลื่อมล้ำจะยิ่งถ่างออก ฉะนั้นนอกจากติดตั้งอินเทอร์เน็ตในโรงพยาบาล สถานที่ราชการ หัวใจที่สำคัญจะต้องไปถึงการศึกษา เด็กทุกคน ต้องสามารถเรียนรู้ได้จากอินเทอร์เน็ตเพื่อสร้างอนาคต ต้องสร้างสมาร์ทฟาร์มเมอร์หนุ่มสาวที่กล้าใช้เทคโนโลยี เป็นผู้นำในการแพร่เทคโนโลยีไปสู่หมู่บ้าน เปลี่ยนพฤติกรรม โครงสร้างการผลิต การค้าขายออนไลน์ ค้าขายกับโลก ประชาชนต้องมีส่วนร่วม ทำให้ประชารัฐมีพลัง อยากเห็นพลังความร่วมมือระหว่างบริษัทเอกชนเพื่อทำให้ digital for all เกิดขึ้นให้จงได้

เปลี่ยนเครื่องยนต์ ศก. จากแอนะล็อกสู่ดิจิทัล

ประการที่ 2 เปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เป็น digital driven economy เครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนสู่อนาคต การทำนายว่าจีดีพีปี 2561 จะเติบโต 4.1% นั้น เป็นโครงสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยเครื่องยนต์แอนะล็อก แต่เมื่อใดสามารถเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตไปสู่ดิจิทัลได้ การเติบโตจะเป็นลักษณะทวีคูณ

หากสามารถใช้เครื่องมือดิจิทัลในการทำแพลตฟอร์มใหม่ business modal ใหม่ เกิดเป็นสตาร์ตอัพ ค้าขายออนไลน์กับทุกแห่งในโลก ใช้ประโยชน์จากดิจิทัลเพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่ม productivity สร้างนวัตกรรมใหม่ เพิ่มมูลค่าสินค้า การเติบโตขยายตัวเป็นทวีคูณ ฉะนั้นการจะเป็น digital driverผู้ประกอบการ SMEs นับล้านราย คือ กำลังหลัก การสร้างสตาร์ตอัพเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อเปลี่ยนผ่านจากแอนะล็อกไปสู่ดิจิทัลทุกมหาวิทยาลัยต้องบรรจุหลักสูตรใหม่ เพื่อพัฒนาอนาคตของชาติ เช่น อาร์ตดีไซน์ โดยจะให้งบประมาณสนับสนุนมากขึ้น แต่จะตัดงบประมาณสถาบันที่ผลิตบุคลากรไม่ตรงกับเป้าหมายการจ้างงานในอนาคต

สร้าง “นักรบธุรกิจ” ใหม่

ประการที่ 3 คือ การสร้าง new warrior หรือนักรบเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นดิจิทัล เช่น ประเทศจีนมาถึงจุดนี้ได้ เริ่มต้นจากธุรกิจยักษ์ใหญ่ ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตชั้นนำของจีนเพียง 3 ราย ได้แก่ อาลีบาบา ไป่ตู้และเทนเซนต์ และสร้างสิ่งแวดล้อมด้านดิจิทัล (ecosystem) รอบตัวเพื่อก้าวไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องเกิดสตาร์ตอัพนับล้านราย กลายเป็นผู้พลิกโครงสร้างเศรษฐกิจจีนจากแอนะล็อกไปสู่ดิจิทัล

ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านเช่นนี้ ต้องการเห็นบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น AIS ทรู ดีแทค สร้างสิ่งเหล่านี้ให้เกิดความตื่นตัว สร้างคลัสเตอร์ที่รัฐบาลกำลังผลักดัน ร่วมกับภาครัฐ มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยสร้าง innovation สร้างแพลตฟอร์มใหม่ เกิดการร่วมทุนและเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯในแพลตฟอร์มใหม่ของสตาร์ตอัพ เกิดเป็น engine (เครื่องยนต์) ของการสร้างจีดีพี ให้เติบโตเป็นทวีคูณ ดังนั้นในอนาคตต้องมี digital driven economy เพื่อให้เกิด exponential growth

เปิด bigdata ต่อยอดธุรกิจ

ประการที่ 4 สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จะต้องมี digital leadership government หน้าที่ของรัฐบาล คือ สร้าง infrastructure และ ecosystem เพื่อให้เกิดการรวมพลัง ให้เอกชนเป็นผู้นำรัฐบาลสนับสนุน big data เพื่อให้ผู้ผลิตรู้ดีมานด์ ผู้บริโภคดีมานด์ในสิ่งที่ต้องการได้ เกิดเป็นการบริโภคที่ขยายตัว

ข้อมูลสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจได้ เกิดการซื้อขายข้อมูลระหว่างบริษัทยอดธุรกิจ รัฐบาลจะเซตระบบ big data เป็น open access ให้เอกชนใช้ประโยชน์ในการสร้างธุรกิจ

ขณะนี้ 3 ธนาคารของรัฐ ได้แก่ เอสเอ็มอีแบงก์ ธนาคารออมสิน และกรุงไทย กำลังแชร์ข้อมูลของ SMEs เพื่อนำไปสู่การทำธุรกิจและการขายสินค้า รวมถึงการบริการทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (ฟินเทค) กระทรวงพาณิชย์นำข้อมูลจากทูตพาณิชย์ทุกคนในตลาดทั่วโลกส่งกลับมาเป็น open data ให้กับเอกชนเพื่อ create value ดังนั้น หน้าที่ของรัฐบาล คือ ทำให้ big data เป็น smart data เป็น data เชิงยุทธศาสตร์

โมเดลประชาธิปไตยใหม่

ประการสุดท้าย สำคัญที่สุด digital politic ดิจิทัลจะนำไปสู่ engagements คนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ เกิดการตื่นตัว สามารถสื่อสารกับรัฐบาลได้โดยตรง นอกเหนือไปจากการสื่อผ่านผู้แทน ส.ส. เพื่อรับรู้ความต้องการ รัฐบาลจะสามารถสร้าง policy ใหม่ ๆ พรรคการเมืองสามารถสร้างนโยบายใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองและสร้างอนาคตประเทศ เกิดเป็นพลังมหาศาล การมีโอกาสได้รับฟัง เกิดปฏิกิริยาระหว่างรัฐกับประชาชน เกิดเป็น modal democracy ที่ไม่เหมือนเดิม แต่ต้อง on the right track ถึงจะทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ ขณะเดียวกัน สิ่งที่น่ากลัว (evil) คือ เกิดจากการบิดเบือน ตกแต่ง ทำร้าย ประณาม เกิดการสื่อสารกันเฉพาะคน เฉพาะกลุ่ม เกิดเป็นความแตกแยก แตกขั้วทางความคิด เกิดเป็นความขัดแย้ง


ท้ายที่สุด ระยะเวลา 3 ปีนับจากนี้สำคัญ ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐมนตรีหรือรัฐบาลต้องเปลี่ยนผ่านให้ได้ เพราะมีเวลาอีกไม่เกิน 3 ปี สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต 3-4 ปีที่ผ่านมาต้องเปลี่ยนเพราะเป็นจังหวะที่ดี ในอนาคตข้างหน้าอยากให้คนรุ่นใหม่ สามารถเป็นนักธุรกิจ เป็นสตาร์ตอัพที่คิดสิ่งใหม่ ๆ ใครพร้อมเข้าสู่การเมืองเลย ถึงจะเป็น smart voice เพราะเรามี smart people