ลดฝุ่นด้วยดีเซล ยูโร 5

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย ดร.อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล

มีการตรวจสอบคุณภาพอากาศโดยกรมควบคุมมลพิษในกรุงเทพฯเมื่อเร็ว ๆ นี้ พบว่าค่าฝุ่นสูงกว่ามาตรฐาน โดยเฉพาะฝุ่นขนาดเล็ก ทั้ง PM10 และ PM2.5 ถึงแม้ว่าทางกรมควบคุมมลพิษไม่ได้รายงานค่าฝุ่นขนาดเล็กสูงกว่ามาตรฐานทุกวันหรือเป็นบางวัน ใน ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ ไม่พ้นเรื่องการก่อสร้างจำนวนมาก การเผาในที่โล่ง และที่สำคัญมากคือการจราจรที่หนาแน่น มีฝุ่นขนาดเล็กที่ออกมาจากท่อไอเสียรถยนต์ ซึ่งสาเหตุเหล่านี้เป็นมาอย่างยาวนาน

การแก้ไขเรื่องการก่อสร้างตามพื้นที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร มีมาอย่างต่อเนื่องและคงไม่อาจหมดสิ้นไปได้ แต่การลดปริมาณฝุ่นจากท่อไอเสียรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นมาอย่างยาวนาน โดยการปรับคุณภาพน้ำมันดีเซลให้มีคุณภาพดีขึ้นจากมาตรฐานยูโร 2 (กำมะถัน 500 PPM) เป็นยูโร 3 (กำมะถัน 350 PPM) ในปี 2547 และปรับเป็นยูโร 4 (กำมะถัน 50 PPM) ในปี 2555 ทุกครั้งที่มีการปรับคุณภาพ ก็มาจากปัญหาฝุ่นขนาดเล็กที่มีค่าในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน โดยประมาณการว่าประชาชนต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลโดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจไม่ต่ำกว่าปีละ 20,000 ล้านบาท ดังนั้นมาตรการต่าง ๆ ที่จะต้องลดปริมาณฝุ่นลง เป็นสิ่งจำเป็นและคุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้ทุกครั้งที่ปรับคุณภาพน้ำมันดีเซล โรงกลั่นจำเป็นต้องลงทุนเพิ่มเติม และมีค่าใช้จ่ายในการเดินเครื่องจักรเพิ่มขึ้น แต่ก็อยู่ในระดับ 20 สตางค์ต่อลิตรสำหรับน้ำมันดีเซลยูโร 3 และ 26 สตางค์ต่อลิตรสำหรับยูโร 4

เนื่องจากในแต่ละปีที่ผ่านมาปริมาณรถยนต์เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงแม้การปล่อยมลพิษจากรถยนต์ดีเซลในปัจจุบันจะควบคุมได้ดีมากขึ้น เนื่องจากมีการติดตั้งเครื่องกรองไอเสีย (catalytic converter) ซึ่งจะทำงานได้ประสิทธิภาพสูง เมื่อน้ำมันที่ใช้มีค่ากำมะถันต่ำ ยิ่งต่ำมาก ประสิทธิภาพยิ่งสูงมาก แต่ผลการตรวจวัดก็ยังพบว่าค่าฝุ่นขนาดเล็กยังอยู่ในระดับที่สูง ทางกรมควบคุมมลพิษจึงมีความคิดที่จะให้โรงกลั่นปรับคุณภาพน้ำมันดีเซลให้ดียิ่งขึ้นอีก เป็นมาตรฐานยูโร 5 (กำมะถัน 10 PPM) เหมือนกับในยุโรป และหลาย ๆ ประเทศในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง ตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งแน่นอนส่งผลกระทบต่อโรงกลั่นที่จะต้องลงทุนเพิ่มเติมและมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น มีการประเมินเบื้องต้นว่า โรงกลั่นแต่ละแห่งต้องลงทุนราว 14,000 ล้านบาท

ดังนั้นราคาน้ำมันดีเซลต้องปรับขึ้นสูงถึง 40 สตางค์/ลิตร หรือผู้ใช้น้ำมันดีเซลต้องจ่ายเพิ่มให้โรงกลั่นอีกปีละราว 10,000 ล้านบาท อีกทั้งต้องใช้เวลาถึง 7-8 ปี จึงจะสามารถผลิตได้

ที่จริงเรื่องการปรับลดกำมะถันในน้ำมันดีเซล โรงกลั่นได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตลอด 1 ปีที่ผ่านมา และล่าสุดที่ปรับลดลงเป็นยูโร 4 นั้น เกือบทุกโรงกลั่นน่าจะสามารถปรับเป็นยูโร 5 ได้ไม่ยาก เพราะมีการลงทุนเผื่อเอาไว้บางส่วน ค่ากำมะถัน จะลดจาก 50 เป็น 10 PPM ไม่สูงมากนัก ถ้าเทียบกับปริมาณที่ต้องลดในอดีตที่ผ่านมา โรงกลั่นสามารถทำหลายอย่างควบคู่กันไป ไม่ว่าการหาน้ำมันดิบมีกำมะถันต่ำลงมากลั่นมากขึ้น การเปลี่ยนตัวเร่งปฏิกิริยาเคมี (catalyst) ประสิทธิภาพสูงขึ้น การปรับสภาพการเดินโรงงานเป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าโรงกลั่นน่าจะทำได้ไม่ยาก ใช้เวลาไม่นานมาก ถ้าต้องเปลี่ยนเครื่องจักรบ้าง 2-3 ปี ก็น่าจะแล้วเสร็จ ก่อนปี 2565 ที่ทางกรมควบคุมมลพิษต้องการ

สำหรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น คงต้องลงไปศึกษา แต่เชื่อว่าไม่ควรสูงกว่าในอดีตที่ผ่านมา ที่จริงถ้าโรงกลั่นเอาส่วนเพิ่ม 20 สตางค์ต่อลิตร ที่เคยได้ในอดีตตอนปรับจากยูโร 2 เป็นยูโร 3 ออกเสีย เพราะคุ้มทุนไปแล้ว การปรับเปลี่ยนเป็นยูโร 5 ในครั้งนี้ อาจไม่ต้องปรับราคาเพิ่มเลยก็เป็นได้ ทั้งนี้คงขึ้นอยู่กับการเจรจาตกลงกัน แต่ถ้ายึดเอาผลประโยชน์ประชาชน มีสุขภาพที่ดีขึ้น เชื่อว่าทางกลุ่มโรงกลั่นคงพร้อมที่จะสนับสนุนนโยบายรัฐ และทำเพื่อประชาชน