ไทยขาดดุลการค้า ม.ค. 2566 กว่า 4.6 พันล้านเหรียญ สูงสุดในรอบ 10 ปี

การส่งออกฮ่องกงลดหนักสุดใน 70 ปี
AFP/ Philip FONG

ไทยขาดดุลการค้า 4,649.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ในเดือนมกราคม 2566 สูงสุดในรอบ 10 ปี สาเหตุราคาพลังงานสูง นำเข้าเพิ่ม จีนเปิดประเทศหนุนให้มีความต้องการน้ำมันในภาคขนส่ง-การผลิตมากขึ้นทั่วโลก

วันที่ 6 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวเลขการส่งออกของไทย ประจําเดือนมกราคม 2566 พบว่ามีมูลค่า 20,249.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 4.5% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นการหดตัวต่อเนื่อง 4 เดือนติดต่อกัน นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคํา และยุทธปัจจัย หดตัว 3.0% ขณะที่ การนําเข้ามีมูลค่า 24,899.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 5.5% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 4,649.6 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ การส่งออกไทยที่หดตัวต่อเนื่องยังพบว่าไทยขาดดุลการค้า 4,649.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ในรอบ 10 ปีอีกด้วย โดยสาเหตุสำคัญของการขาดดุลการค้าเดือนมกราคม 2566 มาจากมีการนำเข้าพลังงานที่เพิ่มขึ้น ราคาพลังงานโลกที่สูง หลังจากที่จีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลกกลับมาเปิดประเทศ

พร้อมทั้งยกเลิกนโยบาย Zero-COVID ช่วยหนุนความต้องการใช้น้ำมันทั้งในภาคการขนส่งและการผลิต และยังช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก ขณะเดียวกัน อุปสงค์ภายในประเทศของไทยขยายตัวต่อเนื่อง รองรับการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่จะเพิ่มขึ้นจำนวนมากหลังเปิดประเทศ

ส่งผลให้ประเทศไทยมีการนำเข้าเดือนมกราคม 2566 ขยายตัวในหมวดสินค้าสำคัญ ได้แก่ สินค้าเชื้อเพลิง สัดส่วน 21.1% ขยายตัว 84.4% สินค้าอุปโภคบริโภคสัดส่วน 12.6% ขยายตัว 0.4% และยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สัดส่วน 4.9% ขยายตัว 28.4% เป็นต้น

จากสถิติตั้งแต่ปี 2544 พบว่าราคาน้ำมันดิบมีผลต่อมูลค่าการนำเข้าและดุลการค้าอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อไทย ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าสินค้าพลังงาน ในสัดส่วนที่สูงกว่า 20% ของการนำเข้ารวม จึงทำให้ขาดดุลการค้า ซึ่งความผันผวนของราคาพลังงานในอดีตที่ผ่านมาเกิดจากปัญหาความขัดแย้งที่กระทบต่อประเทศผู้ผลิตน้ำมัน

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่พึ่งพาการนำเข้าน้ำมันมาก ๆ ต่างก็ขาดดุลการค้าสูงในเดือนมกราคม 2566 เช่นกัน อาทิ ญี่ปุ่นขาดดุล 26,804.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เกาหลีใต้ขาดดุล 12,651.2 ล้านเหรียญสหรัฐ อินเดียขาดดุล 17,742.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น

สำหรับการส่งออกของไทยในเดือนมกราคม 66 หดตัว 4.5% ต่อเนื่อง 4 เดือน ก็เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ภาคการผลิตและการคำสั่งซื้อใหม่ของสินค้าส่งออกยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะ

คำสั่งซื้อสินค้าใหม่ของต่างประเทศมีแนวโน้มลดลงในหลายอุตสาหกรรม สอดคล้องกับข้อมูลการส่งออกของไทยที่หดตัว อาทิ เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีแรงกดดันด้านค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคลดการบริโภคสินค้าคงทนและสินค้าฟุ่มเฟือยลง ส่งผลให้การส่งออกบางสินค้าหดตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ อัญมณี และเครื่องประดับ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยเมื่อเทียบการส่งออกกับประเทศอื่นในภูมิภาคถือว่าไทยยังมี performance ที่ดี และเดือนมกราคม 2566 ยังติดลบน้อยกว่าประเทศอื่นอีกหลายประเทศ เช่น ฮ่องกงหดตัว 10 เดือนต่อเนื่อง ม.ค. 66 หดตัว 36.9% เวียดนามหดตัว 3 เดือนต่อเนื่อง ม.ค. 66 หดตัว 25.9% ไต้หวันหดตัว 5 เดือนต่อเนื่อง ม.ค. 66 หดตัว 21.2% เกาหลีใต้หดตัว 4 เดือนต่อเนื่อง ม.ค. 66 หดตัว 16.6%

ญี่ปุ่นหดตัว 10 เดือนต่อเนื่อง ม.ค. 66 หดตัว 8.9% สิงคโปร์หดตัว 3 เดือนต่อเนื่อง ม.ค. 66 หดตัว 7.9% และอินเดียหดตัว 2 เดือนต่อเนื่อง ม.ค. 66 หดตัว 6.6% เป็นต้น

แต่ทั้งนี้ เชื่อว่าการส่งออกจะทยอยปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 โดยมองว่าเศรษฐกิจของตลาดเป้าหมายการส่งออกยังคงเติบโตได้ดี การเปิดประเทศของจีนคู่ค้าสำคัญที่จะฟื้นภาคการผลิตของโลก และสถานการณ์เงินเฟ้อที่จะค่อย ๆ ผ่อนคลายลงของสหรัฐ ในช่วงที่เหลือของปีนี้