กระทรวงอุตฯ ดันเอสเอ็มอีใช้หุ่นยนต์ ลดผลกระทบขาดแรงงาน-ขึ้นค่าจ้าง

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เดือนมีนาคมนี้กระทรวงฯเตรียมเร่งขับเคลื่อนโครงการการยกระดับการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ปรับเปลี่ยนใช้หุ่นยนต์ และและระบบอัตโนมัติในการผลิตมากขึ้น โดยปี 2561 ตั้งเป้า 300 – 500 ราย เพื่อเพิ่มผลผลิต (โปรดักทิวิตี้) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และรองรับค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับสูงขึ้น รวมทั้งแนวโน้มการขาดแคลนแรงงานมากขึ้นในอนาคต

สำหรับการดำเนินงานจะร่วมมือกับหลายฝ่าย อาทิ การให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยทั่วประเทศคัดเลือกเอสเอ็มอีในพื้นที่ เข้าโครงการปรับเปลี่ยนมาใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยกระทรวงฯ จะประสานสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไม่เกิน 4% จากดอกเบี้ยปกติ 7% รองรับ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการได้ปรับเปลี่ยนเครื่องจักร

นอกจากนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จะทำงานร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศไทย (คอร์) ที่เป็นการร่วมมือกันระหว่างรัฐและเอกชนโดยเฉพาะ 8 หน่วยงานด้านวิจัยพัฒนาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของประเทศ ได้แก่ สถาบันไทย-เยอรมัน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือมหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยทีมคอร์จะทำงานประสานกับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ไอซีที) หรือศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคของ กสอ. ร่วมถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

“ศูนย์ความเป็นเลิศฯ เป็นร่วมมือกันทั้งรัฐ เอกชน และกำลังเชิญสถาบันจากต่างประเทศทั้งจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และล่าสุดรัสเซียที่เดินทางมาดูลู่ทางการลงทุนในระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะเข้ามาร่วมมือสนับสนุนการใช้ระบบอัตโนมัติให้กับเอสเอ็มอีมากขึ้น โดยการปรับเปลี่ยนนำเอาระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์มาใช้และยังสามารถเชื่อมโยงในการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับเอสเอ็มอีภายใต้โครงการสนับสนุนเงินทุนให้กับเอสเอ็มอีต่างๆ โดยจะทำงานแบบครบวงจรให้มากขึ้น” นายอุตตมกล่าว

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้เอสเอ็มอีมีความตื่นตัวที่จะปรับธุรกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีต่างๆ มากขึ้น ซึ่งกระทรวงฯ มีนโยบายเข้าไปสนับสนุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในด้านต่างๆ ต่อเนื่อง ล่าสุดได้เน้นการหาเครื่องมือในการส่งเสริมให้เอสเอ็มอีเข้าถึงบรรจุภัณฑ์ โดยความร่วมมือบริษัทต่างๆ ที่สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ขนาดต่างๆ ที่เป็นมาตรฐาน เนื่องจากเอสเอ็มอีมีความต้องการบรรจุภัณฑ์ในปริมาณต่ำทำให้บริษัทส่วนใหญ่จะไม่รับทำ ซึ่งขณะนี้กำลังทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 

ที่มา : มติชนออนไลน์