ยอดผลิตไฟโซลาร์พลาดเป้า สนพ.ชี้ก่อสร้างดีเลย์-ชั่วโมงแดดลดลง

ยอดผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนปี’60 ไม่ถึงเป้าหมายที่ 10% โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ พบจำกัดชั่วโมงแดด-หลายโครงการก่อสร้างล่าช้า ลุ้นกำลังผลิตใหม่จาก SPP hybrid firm เข้าระบบปี’62 ดันกำลังผลิตจากพลังงานทดแทนเข้าระบบมากขึ้น

ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในปี 2560 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในโครงการที่ภาครัฐเปิดรับซื้อไฟฟ้าภายใต้รูปแบบส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า หรือ adder และรูปแบบค่าไฟฟ้าผันแปรตามต้นทุน feed in tariff หรือ Fit ไม่เป็นไปตามเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP (power development plan 2558-2579) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ที่ใช้ในปัจจุบัน ที่กำหนดว่าจะมีกำลังผลิตเข้ามาในระบบที่ร้อยละ 10 แต่กลับเข้าระบบเพียงร้อยละ 7 เท่านั้น ในจำนวนร้อยละ 3 ที่หายไปนั้นมาจาก 2 ประเด็นหลัก คือ 1) ส่วนใหญ่เป็นโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมีข้อจำกัดชั่วโมงของแดดที่จะนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าลดลง และ 2) บางโครงการก่อสร้างล่าช้ากว่ากำหนด ทั้งนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของการผลิตไฟฟ้า แต่อาจจะกระทบต่อวัตถุประสงค์ของแผน PDP ที่ต้องการลดการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าที่สูงถึงเกือบร้อยละ 80 ให้ลดลงเหลือที่ร้อยละ 60 ด้วยการเพิ่มกำลังผลิตจากเชื้อเพลิงอื่น เช่น พลังงานทดแทน

ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าในปี 2561 นี้ กำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจะผลิตเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ได้เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่ร้อยละ 2 โดยเฉพาะกำลังผลิตไฟฟ้าที่จะมาจากโครงการรับซื้อไฟฟ้าโดยใช้วิธีประมูล (competitive bid-ding) ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่จะเริ่มทยอยผลิตไฟฟ้าเข้าระบบในปีེ เช่น จากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ SPP hybrid firm ที่ผสมผสานเชื้อเพลิงตั้งแต่ 1 ประเภทขึ้นไป รวม 300 เมกะวัตต์ ภายใต้อัตราค่าไฟฟ้าแบบ Fit ที่อัตรารับซื้อ 3.66 บาท/หน่วย

“จะเห็นว่าจำนวนของโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ไม่ว่าจะเป็นโซลาร์เซลล์ พลังงานลม รวมถึงชีวมวล แม้จะมีจำนวนค่อนข้างมาก แต่กลับผลิตไฟฟ้าได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะโซลาร์เซลล์ ภายใต้ค่าไฟฟ้าแบบ adder ที่ราคา 8 บาท/หน่วย ที่หลายโครงการมีปัญหา เช่น ต้องการเปลี่ยนเทคโนโลยีของโรงไฟฟ้า และหลายโครงการอยู่ระหว่างการฟ้องร้องที่ยังไม่เสร็จสิ้น”

ดร.ทวารัฐกล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาพลังงานทดแทนนั้น มีแผนในการขับเคลื่อน คือแผน PDP และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP (alternative energy development plan) ที่วางเป้าหมายว่าในปี 2579 จะต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอยู่ที่ 19,634 เมกะวัตต์ เช่น จากโซลาร์เซลล์ พลังงานลม และอื่น ๆ ในช่วงที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการเปิดรับซื้อไฟฟ้าต่อเนื่อง พร้อมทั้งมีมาตรการจูงใจเพื่อให้ผู้ประกอบการหันมาผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจูงใจด้วยราคาค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมและภายหลังจากที่ต้นทุนการผลิตจากพลังงานทดแทนที่ลดลงค่อนข้างมาก ในอนาคตอาจทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนสามารถแข่งขันกับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้

รายงานข่าวเพิ่มเติมจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ถึงผลการดำเนินงานด้านพลังงานทดแทนในเดือน ม.ค.-พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา แบ่งเป็นจากพลังงานแสงอาทิตย์ รวม 2,692 เมกะวัตต์ พลังงานลม 627 เมกะวัตต์ ชีวมวล 3,102 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ 475 เมกะวัตต์ และจากขยะ 188.47 เมกะวัตต์ ส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในช่วงที่ผ่านมาของ กกพ.มีการรับซื้อ เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดิน โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน feed in tariff โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ feed in tariff และโครงการผลิตไฟฟ้ารายเล็กแบบ SPP hybrid firm หรือการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานเชื้อเพลิงมากกว่า 1 ประเภทขึ้นไป ฯลฯ