ประยุทธ์ ตามความคืบหน้า สถานีสูบน้ำฯห้วยดอกไม้ จ.ราชบุรี รับหน้าแล้ง

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

“ประยุทธ์” ติดตามความคืบหน้าสถานีสูบน้ำฯห้วยดอกไม้ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ด้านศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะอัพเดตสถานการณ์น้ำใช้ได้ยังเกิน 60% แต่ขอทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อมีน้ำใช้เพียงพอตลอดปี

วันที่ 13 มีนาคม 2566 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะลงพื้นที่ติดตามแนวทางในการพัฒนาอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โดยมีนายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยนายพงษ์ศักดิ์ ฤทธิสมิต ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 13 นายกิตติ์ชญชาต เสมคำ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานราชบุรี ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน

ประยุทธ์ลงตรวจพื้นที่ราชบุรี

นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า พื้นที่บริเวณหมู่ที่ 8 ต.เขาขลุง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากยังไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำที่เพียงพอสำหรับการอุปโภค บริโภค และการเกษตร ซึ่งราษฎรส่วนใหญ่ในพื้นที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก จึงส่งผลให้ผลผลิตอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ประกอบกับพื้นดังกล่าวตั้งอยู่สูงกว่าคลองส่งน้ำชลประทาน ทำให้ไม่สามารถส่งน้ำด้วยระบบแรงโน้มถ่วงได้

กรมชลประทานจึงได้ก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำ และก่อสร้างอาคารถังพักน้ำ เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำในการอุปโภค บริโภค และการเกษตร ให้กับประชาชนในพื้นที่ ปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างสถานีสูบน้ำดังกล่าวเสร็จแล้ว

ประกอบไปด้วย เครื่องสูบน้ำขนาด 0.10 ลบ.ม./วินาที 2 เครื่อง ท่อส่งน้ำความยาว 3.40 กิโลเมตร พร้อมถังพักน้ำ ขนาดความจุ 500 ลบ.ม. จำนวน 4 ถัง รวมความจุเก็บกักน้ำ 2,000 ลบ.ม. ทำให้สามารถสูบและเก็บกักน้ำส่งไปยังพื้นที่เป้าหมายได้แล้วบางส่วน

ประยุทธ์ติดตามความคืบหน้าปัญหาภัยแล้งราชบุรี

ส่วนในระยะที่ 2 อยู่ในระหว่างเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณประจำปี 2567 เพื่อก่อสร้างระบบส่งน้ำบ้านห้วยดอกไม้-บ้านหนองขาม ซึ่งหากได้รับงบประมาณจะเร่งดำเนินการก่อสร้างโดยเร็ว หากแล้วเสร็จจะสามารถส่งน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และการเกษตรให้กับพื้นที่หมู่ที่ 8 ตำบลเขาขลุง อำเภอบ้านโป่ง และบริเวณใกล้เคียงได้ประมาณ 3,161 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 365 ครัวเรือน ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งได้เป็นอย่างมาก ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ในวันเดียกันนี้ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป

ดร.ธเนศร์เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (13 มี.ค. 66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวมกัน 51,477 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 67 ของความจุอ่างรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 27,535 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 15,904 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 64 ของความจุอ่างรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 9,208 ล้าน ลบ.ม.

ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ดี จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี 65/66 ทั้งประเทศไปแล้ว 17,964 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 65 ของแผน (แผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 27,685 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 6,473 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 72 ของแผน (แผนจัดสรรน้ำลุ่มเจ้าพระยา 9,100 ล้าน ลบ.ม.)

ด้านผลการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ทั้งประเทศมีการเพาะปลูกไปแล้ว 10.02 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 91 ของแผน เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 6.39 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 95 ของแผน

ทั้งนี้ ได้กำชับให้สำนักงานชลประทานทั่วประเทศสนับสนุนเครื่องจักรเครื่องมือแก่พื้นที่เสี่ยงปัญหาขาดแคลนน้ำ เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือพื้นที่ได้ทันที ที่สำคัญให้ปฏิบัติตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้งที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งบริหารจัดการน้ำส่งให้เกษตรกรเพื่อใช้ในการเพาะปลูก และอุปโภคบริโภคให้เพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ และเน้นย้ำให้หน่วยงานในพื้นที่ประชาสัมพันธ์รณรงค์การงดเผาตอซัง เพื่อลดการเกิดฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือและพิ้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอใช้ตลอดทั้งปี