IRPC ผนึกมูลนิธิ-โรงงานขาเทียม 95 แห่ง เดินหน้า From Wastes to Walk

IRPC ผนึกมูลนิธิ-โรงงานขาเทียม 95 แห่ง

IRPC ร่วมกับมูลนิธิขาเทียมฯ เดินหน้าโครงการ “From Wastes to “Walk” ร่วมเก็บชิ้นส่วนพลาสติกเหลือใช้จากการผลิตขาเทียมกับโรงงานทำขาเทียมพระราชทาน 95 แห่งทั่วประเทศ นำกลับมารีไซเคิลผลิตเป็นอุปกรณ์เสริมร่างกายจากพลาสติกรีไซเคิลให้ผู้ป่วยและคนพิการที่มีโครงสร้างเท้าผิดปกติและเท้าผิดรูป สร้างโอกาสในการเข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียม ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดปัญหาการจัดการพลาสติกเหลือใช้ พร้อมเดินหน้าสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี 2603

วันที่ 13 มีนาคม 2566 นายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC กล่าวว่า IRPC และมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (มูลนิธิขาเทียมฯ) ร่วมดำเนินโครงการ “From Wastes to Walk” ภายใต้แนวคิด “ก้าวไปด้วยกัน” โดยจะมีการเก็บชิ้นส่วนพลาสติกที่เหลือใช้ในการผลิตขาเทียมจากโรงงานทำขาเทียมพระราชทาน 95 แห่งทั่วประเทศ

การนำกลับมาผ่านการวิจัยพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพที่โรงงานรีไซเคิลของ IRPC และขึ้นรูปโดยบริษัท อีสเทิร์น โพลีแพค จำกัด (EPP) ซึ่งเป็นลูกค้าของบริษัท มอบให้กับมูลนิธิขาเทียมฯนำไปผลิตเป็นอุปกรณ์เสริมร่างกายจากพลาสติกรีไซเคิลให้คนพิการที่มีโครงสร้างของเท้าผิดปกติและเท้าผิดรูป สร้างโอกาสที่เท่าเทียม เพื่อให้ผู้ป่วยและผู้พิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและช่วยลดปัญหาการใช้พลาสติกเหลือใช้ ถือเป็นความร่วมมือที่สำคัญของผู้ผลิตตั้งแต่ต้นน้ำและปลายน้ำที่มีเป้าหมายเดียวกันในการร่วมพัฒนาอย่างยั่งยืน ESG (Environmental, Social and Governance)

Advertisement

สำหรับแผ่นพลาสติกรีไซเคิลที่ผ่านการทดสอบคุณสมบัติ สามารถใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอนช่างเครื่องช่วยคนพิการผลิตเป็นอุปกรณ์เสริมร่างกายจากพลาสติกรีไซเคิลให้คนพิการที่มีโครงสร้างของเท้าผิดปกติและเท้าผิดรูป นอกจากนี้ แผ่นพลาสติกรีไซเคิลดังกล่าวยังสามารถนำไปผลิตเป็นอุปกรณ์เสริมร่างกายจากพลาสติกรีไซเคิลให้ผู้ป่วย ผู้พิการทางการเคลื่อนไหวที่มีสาเหตุมาจากโรคหลอดเลือดสมอง ไขสันหลังบาดเจ็บ เด็กสมองพิการ และผู้ป่วยที่มีอาการปวดเนื่องจากกล้ามเนื้อ ได้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น

ความร่วมมือระหว่าง IRPC และมูลนิธิขาเทียมฯ เพื่อสร้างโอกาสให้คนพิการเข้าถึงอุปกรณ์เสริมร่างกายจากพลาสติกรีไซเคิลอย่างเท่าเทียม เริ่มตั้งแต่ปี 2554 ถึงปัจจุบัน โดย IRPC ได้ดำเนินโครงการขาเทียม ด้วยการคิดค้นพัฒนา เม็ดพลาสติกพีพี (Polypropylene) เกรดพิเศษ ส่งมอบให้แก่มูลนิธิขาเทียมฯ ปีละประมาณ 8 ตัน สามารถผลิตขาเทียมให้แก่คนพิการแล้วกว่า 35,000 ขา และบริษัทได้นำผู้บริหารและพนักงานจิตอาสาร่วมกับมูลนิธิขาเทียมฯ “ออกหน่วยทำขาเทียม” ตลอดจนได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2563 ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (ประเภทองค์กรขนาดใหญ่) ในชื่อผลงาน “พลาสติกนวัตกรรมเพื่อคนพิการ” จากผลงานการวิจัยพัฒนา เม็ดพลาสติก Polypropylene Random Copolymer 3340H ซึ่งมีคุณสมบัติโปร่งแสง มีความยืดหยุ่น ผิวเรียบลื่น เหมาะสำหรับใช้ผลิตเบ้าขาเทียมอีกด้วย

นอกจากนี้ IRPC ยังมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายเพื่อนําพลาสติกที่เหลือใช้จากกระบวนการผลิต นำกลับมาใช้ใหม่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยได้ประสานภาคีเครือข่าย สถาบันสิรินธร เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร และโรงพยาบาลทหารผ่านศึก รวมทั้งมูลนิธิขาเทียมฯ เพื่อรวบรวมชิ้นส่วนพลาสติกที่เหลือจากการผลิตขาเทียมมาพัฒนาวิจัยขึ้นรูปแผ่นพลาสติกรีไซเคิล โดยศูนย์นวัตกรรมและโรงงานรีไซเคิลของ IRPC

สำหรับองค์กรหรือหน่วยงานที่สนใจร่วมเป็นพันธมิตรกับโครงการผลิตอุปกรณ์เสริมร่างกายจากพลาสติกรีไซเคิล “From Wastes to Walk” เพื่อต่อยอดความร่วมมือและขยายผลการเก็บรวบรวมชิ้นส่วนพลาสติกพีพี สามารถสอบถามได้ที่ email: [email protected] และ Facebook: IRPCofficial

ด้วยวิสัยทัศน์ “สร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุและพลังงาน เพื่อชีวิตที่ลงตัว” IRPC พร้อมเดินหน้าสู่องค์กรแห่งนวัตกรรม สร้างสิ่งที่ดีเพื่ออนาคต ควบคู่การสร้างสมดุลให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนให้ความสำคัญกับการบูรณาการความยั่งยืนในการดำเนินงาน ภายใต้หลักธรรมาภิบาล หรือ ESG (Environmental, Social and Governance) และเดินหน้า สู่เป้าหมาย Net zero ในปี 2603 “IRPC สร้างสิ่งที่ดีเพื่ออนาคต”