“สยามแก๊ส” เปิดศึก LPG งัดคลังก๊าซลอยน้ำ “ไม่ง้อ” เขาบ่อยา

ภาพพลังงานของประเทศ กำลังเปลี่ยนไปสู่การเปิดเสรีอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้ราคาสะท้อนต้นทุนและเกิดการแข่งขันอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือ LPG ที่กระทรวงพลังงานได้เดินตามบันได 4 ขั้น มาถึงขั้นตอนสุดท้ายแล้วคือ การเปิดเสรีอย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 1 สิงหาคมนี้

เป้าหมายคือ จะต้องมีผู้ค้าก๊าซมากกว่า 1 เป็นผู้นำเข้าก๊าซ LPG จากเดิมที่มีเพียงบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำเข้าเพียงรายเดียว โดยในขณะนี้ บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SGP ถือเป็นผู้ค้าเพียงรายเดียว ที่ได้เริ่มนำเข้าก๊าซ LPG หลังจากที่ใช้เวลาเตรียมตัวถึง 2 ปี เพื่อหาเครื่องมือที่ตอบโจทย์ที่ว่า จะทำอย่างไรให้ต้นทุนการนำเข้าสามารถแข่งขันกับผู้ค้าก๊าซรายใหญ่ได้

จุดแข็งคือเรือก๊าซลอยน้ำ

นางจินตณา กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สยามแก๊สฯ ได้กล่าวถึงเครื่องมือสำคัญที่ทำให้สยามแก๊สฯ ได้เปรียบผู้ค้ารายอื่นในแง่ของต้นทุนการนำเข้า คือ 1) เรือก๊าซลอยน้ำ (Floating Storage) ที่มีศักยภาพสูงสุด 45,000 ตัน 2) กองเรือ 20-30 ลำ เพื่อกระจายก๊าซไปยังลูกค้าและคลังต่าง ๆ และ 3) รถบรรทุกสำหรับขนส่งอีก 1,000 คัน โดยเฉพาะเรือก๊าซลอยน้ำที่ถือเป็นจุดแข็งของสยามแก๊สที่ทำให้สามารถบริหารการนำเข้าก๊าซฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดข้อจำกัดในการต้องนำก๊าซไปฝากไว้ที่คลังเขาบ่อยาของผู้ค้าก๊าซรายใหญ่ ซึ่งในบางครั้งคลังก็ไม่พร้อมให้บริการ รวมถึงมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง โดยขั้นตอนคือเมื่อเรือขนส่งก๊าซจากตะวันออกกลางเข้ามา สามารถโหลดก๊าซลงเรือบริเวณเหนืออ่าวอุดม ครีราชา จังหวัดชลบุรีได้ทันที หลังจากนั้นเรือเล็กจะเข้ามารับก๊าซเพื่อส่งต่อไปยังลูกค้าของสยามแก๊สฯต่อไป “พูดได้เลยว่าต้นทุนถูกลง และเราพร้อมที่จะทำตลาดภายใต้การแข่งขันสูงที่กำลังเกิดขึ้นหลังจากการเปิดเสรีธุรกิจเต็มรูปแบบ” นางจิณตนากล่าว

การเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG อย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ จะทำให้สูตรราคาที่เคยควบคุมไว้ถูกยกเลิกทั้งหมด และราคาจะสะท้อนตามตลาดโลก ซึ่งจะทำให้มีการแข่งขันอย่างแท้จริง ทั้งนี้ราคาก๊าซในตลาดโลก (ซาอุดีอาระเบีย) ที่มีการประกาศทุกเดือน ยังทำให้สยามแก๊สฯสามารถบริหารการสั่งซื้อเพื่อทำกำไรได้อีกด้วย อย่างเช่นมีการคาดการณ์ว่าราคาก๊าซ LPG ในเดือนถัดไปที่จะเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ที่ทำให้ความต้องการใช้เพิ่มขึ้นนั้น และผลักดันราคาให้ปรับเพิ่มขึ้น

โดยสยามแก๊สฯจะสั่งซื้อก๊าซ LPG ภายใต้ราคาปัจจุบัน โดยเมื่อรวมระยะเวลาการเดินเรือจากตะวันออกกลางมาไทย ราคาก็จะเปลี่ยนเป็นราคาใหม่แล้ว ส่วนต่างราคาที่เกิดขึ้นมันคือ “กำไร” หรือในกรณีที่ราคามันลง ก็สามารถรีบขายออก หรือสั่งชะลอเรือนำเข้าได้ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ค้าก๊าซต่างอยากเห็นธุรกิจนี้แข่งขันกันอย่างเสรีและยุติธรรม เพราะผู้ที่ได้ประโยชน์ก็คือ ประชาชน ที่ได้ใช้ก๊าซในราคาที่ถูกลง

เล็งสร้างคลังบนบก

นอกจากนี้ นางจิณตนายังให้ข้อมูลอีกว่า เรือก๊าซลอยน้ำดังกล่าวขณะนี้มีไม่กี่ลำในตลาด และหากผู้ค้ามาตรา 7 รายอื่น ๆ จะใช้รูปแบบการนำเข้าก๊าซโดยใช้เรือลอยลำนั้นจะต้องใช้เวลา 2 ปี เพื่อสั่งซื้อ และยังมีกฎหมายของกรมเจ้าท่าคือ การใช้เรือลอยลำบริเวณน่านน้ำของไทย เรือจะต้องมีสัญชาติไทย หรือคนไทยจะต้องเป็นเจ้าของ ส่วนในกรณีที่ไม่ใช่เรือสัญชาติไทย จะต้องดำเนินการขออนุญาตจากกระทรวงคมนาคม โดยผู้อนุมัติคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และจะต้องไม่มีประเด็นขัดแย้ง จึงจะดำเนินการได้ แต่หากจะใช้วิธีการเช่าเรือก๊าซลอยน้ำ ค่าใช้จ่ายสูงและต้องเช่าด้วยสัญญาระยะยาว ซึ่งเมื่อพิจารณาจากทั้ง 2 ประเด็นแล้วสยามแก๊สฯเชื่อมั่นว่า หากผู้ค้าก๊าซรายอื่นจะทำตามได้ “ยากมาก”

สำหรับเรือก๊าซลอยน้ำนี้ จะลอยลำในพื้นที่อ่าวอุดมรวม 3 ปี เพื่อให้สยามแก๊สฯได้มีเวลาเตรียมความพร้อมลงทุนในการลงทุนสร้างคลังก๊าซบนบกในอนาคต คาดว่าต้องใช้เงินลงทุน 1,000 ล้านบาท เนื่องจากภาครัฐมีนโยบายที่จะให้เพิ่มสำรองก๊าซ LPG ตามกฎหมายเพิ่มเติมที่ร้อยละ 2.5 จากปัจจุบันที่สำรองอยู่ร้อยละ 1 เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน

ราคา LPG ยืนต่ำอีกยาว

ทีมมอนิเตอร์สถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ของสยามแก๊สฯ ให้ข้อมูลในส่วนของทิศทางราคาว่า ราคาก๊าซจะไม่มีโอกาสได้ปรับขึ้นไปแตะที่ 900-1,000 เหรียญสหรัฐ/ตัน และจะยังคงยืนราคาระดับต่ำ สำหรับราคาก๊าซ LPG ล่าสุดในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 345 เหรียญสหรัฐ/ตัน และยังคาดว่าราคาน่าจะยืนอยู่ที่ไม่เกิน 500 เหรียญสหรัฐ/ตัน ในช่วงปลายปี แต่ที่ผู้ค้าก๊าซจับตาคือภายหลังจากเปิดเสรีธุรกิจก๊าซนั้น การแข่งขันในธุรกิจนี้ที่จะดุเดือดไม่ว่าจะรายเล็ก หรือรายใหญ่ต่างต้องกระโดดลงมาทำการตลาดเพื่อรักษาฐานลูกค้าและรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดเอาไว้