รณรงค์คนไทยกินข้าวมากขึ้น ภารกิจ “นายกข้าวถุง” ดันตลาด 6 หมื่นล้าน

ยงยุทธ พฤกษ์มหาดำรง
ยงยุทธ พฤกษ์มหาดำรง
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

ตลาดส่งออกข้าวถุงปีนี้ยังคงมีสัญญาณการแข่งขันดุเดือดต่อเนื่อง หลังจากเปิดประเทศทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวภายในประเทศฟื้นตัว ส่งผลดีต่อร้านอาหารและความต้องการการบริโภคข้าวเพิ่มมากขึ้น “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นายยงยุทธ พฤกษ์มหาดำรง” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซี.พี.ฟู้ดสโตร์ จำกัด ผู้จำหน่าย ข้าวตราฉัตร หลังจากเข้ารับตำแหน่ง “นายกสมาคมข้าวถุงไทย” เมื่อเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา เพื่อประเมินทิศทางตลาดข้าวถุงของไทยในปีนี้

“หนุนการบริโภคข้าว”

ผมขึ้นมารับตำแหน่งนายกสมาคมข้าวถุงไทยครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม 2566 ปัจจุบันสมาชิกของสมาคมมีอยู่ประมาณกว่า 100 ราย สมาชิกสมาคมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

“ผมพร้อมจะส่งเสริมอุตสาหกรรมข้าวภายในประเทศให้มีการเติบโต และมองว่าต้องการให้ภาครัฐและเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้มีการบริโภคข้าวมากขึ้น โดยสร้างการรับรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ได้เข้าใจถึงคุณค่าในการทานข้าว ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ท้าทาย จากนี้สมาคมจะมีกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อรณรงค์ให้มีการทานข้าวกันมากขึ้น”

บริโภคข้าวลดลง

การบริโภคข้าวของผู้บริโภคปัจจุบัน ปริมาณการบริโภคข้าวอยู่ที่ 75 กิโลกรัมต่อคนต่อปี จากเดิมที่บริโภคอยู่ที่ประมาณ 80-90 กิโลกรัมต่อคนต่อปี และมีแนวโน้มลดลง ภาพรวมปริมาณการบริโภคข้าวของคนภายในประเทศไม่ได้เพิ่มขึ้น โดยกลุ่มที่บริโภคข้าวลดลงส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มของวัยรุ่น จากที่มีสินค้าอื่นเข้ามาทดแทนและมีทางเลือกที่หลากหลาย รวมทั้งปริมาณของผู้บริโภคไม่ได้มีจำนวนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยที่มีการบริโภคข้าวลดลง แต่ในต่างประเทศอย่างญี่ปุ่นเองก็มีการบริโภคข้าวลดลงเช่นกัน โดยมีอาหารอื่นเข้ามาทดแทน

“แม้ตอนนี้ภาคการท่องเที่ยวจะมีการเติบโต แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการบริโภคข้าวจะเพิ่มขึ้น การทานข้าวที่ลดลงส่วนหนึ่งยังมาจากความเชื่อที่ว่ากินข้าวจะทำให้อ้วน มีแป้งเยอะ จึงต้องหาสิ่งอื่นเข้ามาทดแทน ต้องให้ความรู้และความเข้าใจว่าการบริโภคข้าวไม่ได้มีผล ภาครัฐและเอกชนจึงจำเป็นต้องช่วยกันรณรงค์การบริโภคข้าวให้มากขึ้น”

โดยเฉพาะการรณรงค์ในคนรุ่นใหม่ให้รู้จักการบริโภคข้าวที่มีคุณภาพและมีประโยชน์ ซึ่งทางสมาคมข้าวถุงไทยร่วมกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในการจัดทำโครงการส่งเสริมการบริโภคข้าวในเด็กไทย รวมไปถึงการส่งเสริมสนับสนุนเครื่องหมาย “พนมมือ” ให้กับสมาชิกเห็นถึงความสำคัญการสร้างมาตรฐานสินค้าข้าวที่มีคุณภาพมากขึ้น

ภาพรวมตลาดข้าวถุง

สถานการณ์ตลาดข้าวภายในประเทศไทย มีมูลค่าแต่ละปีที่ 140,000 ล้านบาท แบ่งเป็นตลาดข้าวถุง และตลาดข้าวแบบกระสอบ (ข้าวตักตวง) ซึ่งในมูลค่าตลาดนี้ หากมองการเติบโตของตลาดข้าวถุงในปี 2566 น่าจะมีมูลค่า 60,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบจากปีที่ผ่านมา ซึ่งการเติบโตของตลาดข้าวถุงเฉลี่ยทุกปีจะเติบโต 3-4%

ส่วนตลาดของข้าวแบบกระสอบ มูลค่าตลาดลดลง เพราะผู้ประกอบการหันมาทำตลาดข้าวถุงและทำแพ็กเกจขนาดเล็กมากขึ้น เนื่องจากกระสอบข้าวไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากนัก มีปริมาณข้าวเยอะ ค่อนข้างหนัก ไม่สะดวก ไม่ต้องการสต๊อกข้าวไว้ในปริมาณมาก ต้องการซื้อในปริมาณขนาดเล็ก 5 กิโลกรัมก็เพียงพอ การขนส่งไม่ลำบาก แต่ตลาดนี้ก็ยังทำตลาดได้อยู่ แม้มูลค่าตลาดจะไม่เติบโตมาก

“การเติบโตของตลาดข้าวถุงไม่ได้เติบโตจากการบริโภคข้าวที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นการเติบโตทางด้านการส่งเสริมการตลาด และผลิตภัณฑ์สินค้าที่ออกมามีความหลากหลายมากขึ้น และตรงตามความต้องของกลุ่มผู้ซื้อ การจัดทำโปรโมชั่น ประกอบกับประเทศเปิดภายหลังโควิด-19 ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศมากขึ้น ร้านอาหารมีการกลับมาฟื้นตัว

มาตรการของภาครัฐ อย่างเช่น โครงการคนละครึ่ง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งช่วยกระตุ้นการจับจ่ายซื้อสินค้าให้กับประชาชน รวมไปถึงห้างสรรพสินค้าและร้านที่เข้าร่วมโครงการก็ได้รับอานิสงส์จากการซื้อสินค้าของผู้บริโภคโดยทั่วไป”

ข้าวถุงไม่ขึ้นราคา

สำหรับต้นทุนในการผลิตข้าวถุง 80% ส่วนใหญ่อยู่ในตัวของวัตถุดิบที่เป็นเมล็ดข้าว โดยราคาจะมีการปรับขึ้น-ลง ตามสถานการณ์ผลผลิตข้าวภายในประเทศ ซึ่งปีนี้ราคาลดลงมา 30% เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา ส่วนต้นทุนของการผลิตขึ้นอยู่กับการจัดการของผู้ประกอบการ ราคาพลังงาน ขนส่ง โดยจะเห็นว่าผู้ประกอบการหลายราย ต่างจัดโปรโมชั่นเพื่อการแข่งขันกันอย่างดุเดือด

“ปีนี้ยังมั่นใจว่าราคาข้าวถุงจะยังไม่มีการปรับขึ้นราคา ขณะที่ช่องทางการขายก็มีให้เลือกหลากหลายมากขึ้น นับตั้งแต่มีโควิด-19 ผู้ประกอบการใช้ช่องทางออนไลน์ ดีลิเวอรี่ แม้จะมีการเปิดประเทศแต่ช่องทางดังกล่าวยังเป็นทางเลือกให้กับผู้ซื้ออยู่”

พันธุ์ข้าวใหม่ออกตลาด

จากปัจจุบันพันธุ์ข้าวในตลาดข้าวถุงมีหลายพันธุ์ เช่น พันธุ์ข้าวหอมมะลิ ข้าวขาว 5% ข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวกล้อง ข้าวเขี้ยวงู ข้าว กข. 43 และอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังมีการผสมพันธุ์ข้าวแต่ละชนิด เพื่อออกเป็นข้าวบรรจุถุงชนิดใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดความหลากหลายในตลาดข้าวถุง

“การผสมข้าวเพื่อบรรจุเป็นข้าวถุงในราคาต่าง ๆ นั้นเป็นไปตามความต้องการของผู้บริโภค บางรายไม่ชอบทานข้าวนุ่มเกินไป ชอบข้าวแข็งผสม เป็นต้น การดำเนินการดังกล่าวเพื่อปรับตัวในการแข่งขันของผู้ประกอบการข้าวถุง โดยคำนึงถึงผู้บริโภคเป็นหลัก ดังนั้น การแข่งขันในตลาดข้าวถุงปีนี้จะคึกคัก”