แพร่จัดเส้นทางกระตุ้นท่องเที่ยว ชูเป้ารายได้ปี’66 กว่า 2 พันล้าน

พระธาตุช่อแฮ
ภาพประกอบจากเฟซบุ๊ก วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง

แพร่จัดโครงการ “เส้นทางท่องเที่ยว : The Charm of ARTs งดงามวิถีถิ่น…เสน่ห์ศิลป์ร่วมสมัย” ตั้งเป้ารายได้ปี’66 ไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาท

วันที่ 17 มีนาคม 2566 นายอนันต์ สีแดง ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานแพร่ กล่าวว่า ในปีนี้ ททท. สำนักงานแพร่ ร่วมกับเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดแพร่ จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวหลายโครงการ โดยเฉพาะโครงการ The Charm of ARTs…งดงามวิถีถิ่น..เสน่ห์ศิลป์ร่วมสมัย ดึงเอาความเป็นเมืองแพร่ในอีกมุมมองหนึ่ง ให้นักท่องเที่ยวได้ค้นหา และมีกิจกรรมร่วม และนักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวได้ทั้งปี

โดยปี 2566 ได้ตั้งเป้าจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท เทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 สถิติปี 2562 รายได้เฉลี่ย ประมาณ 1,700 ล้านบาท ปี 2565 เพิ่มเป็น 2,000 ล้านบาท

“แพร่ถือเป็นประตูสู่ภาคเหนือตอนบน จะไม่ใช่จังหวัดทางผ่านอีกต่อไป เพราะเมืองแพร่มีเสน่ห์น่าค้นหามากมาย ซึ่งจะมีการนำเสนอผ่านในรูปแบบการสร้างการรับรู้และกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยว จากเมืองหลักสู่เมืองรอง ให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนผ่านการนำเสนอสินค้าและบริการการท่องเที่ยวในพื้นที่อันจะนำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อการอนุรักษ์การท่องเที่ยว เชิงวัฒนธรรมให้คงอยู่โดยใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือ” นายอนันต์กล่าว

ขณะที่นางสาวปุณยภรณ์ ประดับศุข รองผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานแพร่ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ในปีงบประมาณ 2566 มีกรอบแนวคิด “เสน่ห์วันวานเมืองเหนือ” โดยนำอัตลักษณ์ และเรื่องราวตัวตนคนแพร่ (Authentic) ที่มีวิถีชีวิต วิถีวัฒนธรรมอันงดงามด้วยเสน่ห์ ศิลปะเฉพาะตนมาร้อยเรียงเป็น “เส้นทางท่องเที่ยว : The Charm of ARTs งดงามวิถีถิ่น…เสน่ห์ศิลป์ร่วมสมัย” เพราะตัวตนคนแพร่ มีความเป็นศิลปินและนำมาถ่ายทอดเป็นเรื่องราว ผลงานผ่านสถาปัตยกรรมดังเห็นจากบ้านเรือน อาคาร วัดวาอาราม วิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีที่งดงาม

ปัจจุบันยังนำมาถ่ายทอดผลงานร่วมสมัยและมีกิจกรรมการท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยว นักเดินทางได้รับประสบการณ์การเดินทางมาจังหวัดแพร่ ในเส้นทางท่องเที่ยวมีกิจกรรมท่องเที่ยวที่น่าสนใจ โดยการนำเสนอผ่าน อัตลักษณ์ของเมืองแพร่ คือ ไม้ เหล็ก ผ้า โดยศิลปินคนแพร่ ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสประสบการณ์ที่มีคุณค่า และประทับใจ (Memory Marketing)

ไม้ .. ไม้สัก ที่บ่งบอกถึง เรื่องราวคุณค่าทางประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจเมืองแพร่ทุกสมัย ให้ได้สัมผัส นักเลงไม้สมัยใหม่ที่มีความอ่อนโยนและแข็งแกร่ง เหล็ก หรือโลหะ นำเสนอเรื่องราวความศรัทธา ของชาวเมืองลอง คนแพร่ ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต จนถึงปัจจุบัน การนำนวัตกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น มาเป็นงานดีไซน์ที่ทันสมัย

งานผ้า.. เป็นการเล่าเรื่องราวผ่านผืนผ้าพื้นถิ่น ที่มีชื่อเสียงเฉพาะเมืองแพร่ ทั้งผ้าตีนจก และหม้อห้อม อันเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ มาสู่การออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับทุกคนในครอบครัว สิ่งเหล่านี้บ่งบอกความเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละเส้นทางที่นำเสนอ และนักท่องเที่ยว ฃสามารถเข้ามาสัมผัสและร่วมกิจกรรมได้ด้วยตัวเอง

นางเสาวลักษณ์ วิสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดแพร่ กล่าวว่า ในส่วนของภาคธุรกิจ ท่องเที่ยว โรงแรมที่พัก ในจังหวัดแพร่มีห้องพักรองรับมากกว่า 1,800 ห้อง สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้มาก ในช่วงของการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ตอนนี้มีนักท่องเที่ยวเข้ามายังหวัดแพร่ จำนวนมากขึ้น เนื่องจากสถิติการจองโรงแรมที่พัก การใช้จ่ายในร้านอาหาร ที่พัก ร้านจำหน่ายของที่ระลึก

“ในเดือนพฤษภาคม ทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดแพร่ ได้เป็นเจ้าภาพในกระชุมสัญจร สสทน. และสมาคมท่องเที่ยว 17 จังหวัดภาคเหนือ ดังนั้น การเตรียมความพร้อมในทุกด้าน ได้มีการวางแผนแล้ว รวมถึงการรองรับคณะและผู้ติดตามมากกว่า 500 คนที่จะเดินทางเข้ามา อย่างน้อยก็เป็นการประชาสัมพันธ์เมืองแพร่ และส่งเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง แต่ที่น่าดีใจคือ นักท่องเที่ยวฝั่งยุโรปทยอยเดินทางเข้ามายังจังหวัดแพร่ อย่างน้อยการพัก 1-2 คืนก็ส่งผลดีกับระบบเศรษฐกิจในจังหวัด” นางเสาวลักษณ์กล่าว