2 วันสุดท้าย รับความเห็นค่าเอฟทีงวดใหม่ ถึง 20 มี.ค.นี้

กกพ ค่าไฟฟ้า

กกพ.เปิดรับฟังความเห็นค่า Ft งวดเดือน พ.ค.-ส.ค. ผ่านเวบไซต์ ถึง 20 มี.ค.นี้ แจง 3 สูตรคำนวณ

วันที่ 18 มีนาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นค่าเอฟทีสำหรับการเรียกเก็บงวด 2 ในรอบเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2566 ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. www.erc.or.th ที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 20 มีนาคม 2566นี้ จากนั้นจะสรุปและประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป

สำหรับค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง กฟผ.เปิดรับฟังความคิดเห็นในกรณีต่าง ๆ ประกอบด้วย 3 สูตรการคำนวณ คือ

กรณีที่ 1 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 1 งวด) ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน พ.ค. – ส.ค. 2566 จำนวน 293.60 สตางค์ต่อหน่วยส่งผลให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.72 บาทต่อหน่วย

โดยค่าเอฟทีดังกล่าว แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค.- ส.ค. 2566 จำนวน 63.37 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ทั้งหมด หรือเงินภาระต้นทุนคงค้างสะสมเดือน ก.ย. 2564 – ธ.ค. 2565 จำนวน 150,268 ล้านบาท คิดเป็น 230.23 สตางค์ต่อหน่วย

กรณีที่ 2 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 5 งวด) ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน พ.ค. – ส.ค. 2566 จำนวน 105.25 สตางค์ต่อหน่วยส่งผลให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.84 บาทต่อหน่วย

โดยค่าเอฟทีดังกล่าวแบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค.- ส.ค. 2566 จำนวน 63.37 สตางค์ต่อหน่วย และเงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงที่คาดว่าจะคงเหลือจากเดือน ม.ค. – เม.ย. 2566 จำนวน 136,686 ล้านบาท บางส่วน (เงินภาระต้นทุนคงค้างสะสมเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2565 หักภาระต้นทุนคงค้างที่ กกพ. เห็นชอบให้ทยอยเรียกเก็บบางส่วนเดือน ม.ค. – เม.ย. 2566 จำนวน 22.22 สตางค์ต่อหน่วย เป็นเงินประมาณ 13,584 ล้านบาท)

ซึ่งจะแบ่งเป็น 5 งวด ๆ ละ 27,337 ล้านบาท หรืองวดละ 41.88 สตางค์ต่อหน่วยเพื่อให้ กฟผ. ได้รับเงินคืนครบภายในเดือน ธ.ค. 2567 โดย กฟผ. จะต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 109,349 ล้านบาท

กรณีที่ 3 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 6 งวด) ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน พ.ค. – ส.ค. 2566 จำนวน 98.27 สตางค์ต่อหน่วยส่งผลให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.77 บาทต่อหน่วย

โดยค่าเอฟทีดังกล่าวจะ แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค.- ส.ค. 2566 จำนวน 63.37 สตางค์ต่อหน่วย และเงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงคาดว่าจะคงเหลือจากเดือน ม.ค. – เม.ย. 2566 จำนวน 136,686 ล้านบาท บางส่วน

ซึ่งจะแบ่งเป็น 6 งวด ๆ ละ 22,781 ล้านบาทหรืองวดละ 34.90 สตางค์ต่อหน่วยเพื่อให้ กฟผ. ได้รับเงินคืนครบภายใน 2 ปี (เม.ย. 2568) โดย กฟผ. จะต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 113,905 ล้านบาท

กกพ

ใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.75

สำหรับการประมาณการค่าไฟฟ้าครั้งนี้ มีสมมุติฐานปัจจัยที่สำคัญๆ ที่ใช้ในการคำนวณ อาทิ การจัดหาพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.47 สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ที่ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก โดยประมาณการการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.75

ราคาเชื้อเพลิงเฉลี่ยเปลี่ยนแปลง โดยราคาก๊าซธรรมชาติปรับลดลงอย่างมาก ราคาถ่ายหินเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ถ่านหินลิกไนต์ของ กฟผ.ปรับเพิ่มขึ้น น้ำมันดีเซล และน้ำมันเตาปรับตัวลงเล็กน้อย และอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยแข็งค่าขึ้น

หลังจากนี้ต้องมาลุ้นกันว่า กกพ.จะสรุปผลการรับฟังความเห็นและคำนวณอัตราต้นทุนค่าไฟเท่าไรในงวด 2 นี้อย่างไร